หน้าแรก

เรามักจะพบคำว่า GDP ในข่าวเศรษฐกิจอยู่บ่อย ๆ เพราะคำนี้เป็นตัวชี้วัดหลายอย่างในภาพรวม ซึ่งGDP ย่อมาจาก Gross Domestic Product หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หมายถึง ผลรวมมูลค่าของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ผลิตได้ภายในประเทศในระยะเวลาหนึ่ง (ปกติ 1 ปี) โดยยึดอาณาเขตทางการเมืองเป็นหลัก ดังนั้น การคิด GDP จะมาจากรายได้ของประชาชนทุกคนที่ผลิตขึ้นในประเทศ รวมทั้งรายได้ของชาวต่างประเทศที่ผลิตขึ้นในประเทศด้วย

การคำนวณ GDP ของประเทศสามารถคำนวณได้จาก 3 ด้าน คือ ด้านรายจ่าย (Expenditure Approach) ด้านรายได้ (Income Approach) และด้านผลผลิต (Production Approach) โดยการคำนวณ GDP ทั้ง 3 ด้าน จะมีค่าที่เท่ากันเสมอ

สำหรับ GDP ที่มิตรชาวไร่ควรรู้จักคือ GDP ภาคเกษตร ซึ่งมาจากกิจกรรมการผลิตทางการเกษตร ประกอบด้วย สาขาพืช สาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ เป็นการหาผลรวมของมูลค่าสินค้าเกษตรและบริการทางการเกษตรทั้งหมด หักด้วยค่าใช้จ่ายในการผลิต (ค่าพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ย สารเคมี อาหารสัตว์ น้ำมันเชื้อเพลิงและหล่อลื่น ยกเว้นค่าจ้างแรงงาน)

เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรมีหน่วยที่แตกต่างกันในแต่ละสินค้า จึงจำเป็นต้องรวมกันในรูปแบบของมูลค่า เป็นมูลค่าที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา เช่น รายไตรมาส รายปี อาจเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านราคาและปริมาณ ดังนั้น จึงต้องขจัดผลการเปลี่ยนแปลงด้านราคาหรือผลทางด้านเงินเฟ้อออกไป เพื่อสะท้อนถึงปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรและบริการทางการเกษตรหรือเกิดขึ้นจริงในปีนั้น หรือสะท้อนศักยภาพการเติบโตของภาคเกษตรที่แท้จริง

สำหรับอัตราการขยายตัวของ GDP ภาคเกษตรในแต่ละไตรมาส จะต้องพิจารณาถึงสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในแต่ละไตรมาสเช่น ไตรมาส 1 (เดือน ม.ค.-มี.ค.) สินค้าเกษตรที่มีมูลค่าสูง ได้แก่ อ้อยโรงงาน ยางพารา มันสำปะหลัง ข้าวนาปรัง ดังนั้น หากสินค้าเหล่านี้มีผลผลิต และราคาสูงขึ้น หรือปริมาณผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ย่อมทำให้ GDP ภาคเกษตร มีแนวโน้มไปในทางบวก สำหรับอัตราการขยายตัวของ GDP ภาคเกษตรรายปี จะพิจารณาจากแนวโน้มผลผลิตราคา ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสำคัญมูลค่าสูงในแต่ละปี

วิธีการเช่นเดียวกับรายไตรมาส GDP ภาคเกษตรเป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจการเกษตรในภาพรวมของประเทศ ทำให้ทราบว่าภาคเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาหรือปีอื่น ๆ และทราบถึงโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร ความสามารถในการผลิตสินค้าเกษตร และใช้เปรียบเทียบฐานะทางเศรษฐกิจการเกษตรระหว่างประเทศ และเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวิเคราะห์สถานการณ์ศรษฐกิจการเกษตร เพื่อกำหนดแนวทางหรือเป้าหมายแผนพัฒนาการเกษตรและนโยบายด้านเกษตร

อย่างไรก็ตาม GDP ภาคเกษตร จะสะท้อนถึงสภาพเศรษฐกิจของเกษตรกรแต่เพียงในภาพรวมเท่านั้น หากต้องการมองถึงความอยู่ดีกินดีและการกระจายรายได้ของเกษตรกร ต้องพิจารณาละเอียดถึงรายได้เฉลี่ยต่อหัว สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน สัดส่วนคนจน และความไม่เท่าเทียมกัน เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละพื้นที่และแต่ละครัวเรือนมีความแตกต่างกัน

และจากผลการสำรวจความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตร พบว่า มีแนวโน้มทิศทางที่ดีขึ้นตามการพัฒนาการเกษตรของประเทศและการเติบโตของ GDP ภาคเกษตร โดยข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางรายได้ภาคเกษตรช่วงปี 2539-2559 มีแนวโน้มลดลง สะท้อนจากสัดส่วนรายได้ทั้งหมดที่เกษตรกรในกลุ่มที่มีรายได้น้อยที่สุด 2 กลุ่มแรก ซึ่งถือว่าเป็นคนจนภาคเกษตรมีรายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้น การยกระดับรายได้ของครัวเรือนเกษตรให้สูงขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในภาคเกษตร ถือเป็นเป้าหมายหนึ่งที่กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมพัฒนาอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การใช้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม การใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นฐานข้อมูล Zoning ส่งเสริมการรวมกลุ่มทางการตลาด สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนการส่งเสริมและจัดทำบัญชีครัวเรือนและสร้างอาชีพเสริม ตามแผนพัฒนาการเกษตรในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯมีเป้าหมายในการยกระดับรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรให้เพิ่มขึ้นเป็น 59,460 บาทต่อครัวเรือนต่อปี เมื่อสิ้นสุดแผน ซึ่งหากเกษตรกรแต่ละกลุ่มมีรายได้เพิ่มขึ้นย่อมจะส่งผลให้ GDP ภาคเกษตรขยายตัวตามไปด้วย

ขอบคุณที่มา : https://www.prachachat.net/columns/news-202670 

ข่าวปักหมุด