หน้าแรก

หลายคนยังเข้าใจผิด คิดว่า ปลูกพืชไร่อย่าง อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ คุณคิดผิดนะครับ ขึ้นชื่อว่า “การปลูกพืช” พืชทุกชนิดต้องการน้ำหมด แตกต่างกันที่ปริมาณที่ต้องการ

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มอยากให้มิตรชาวไร่ตระหนักว่า ถ้าปลูกอ้อย โดยไม่เสริมน้ำ นั่นคือ การทำไร่อ้อยที่ไร้ประโยชน์ เป็นการลงทุนสูญเปล่าครับ ในทางกลับกัน เมื่อเรามีการจัดการเรื่องระบบชลประทานในไร่อ้อย เพื่อเสริมน้ำร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ผลผลิตที่จะได้รับ คุ้มค่าอย่างแน่นอน

ปริมาณน้ำเสริมอ้อยที่เหมาะสม

โดยเฉลี่ยแล้ว อ้อยต้องการน้ำตลอดฤดูกาลประมาณ 1,500 มิลลิเมตร และปริมาณน้ำฝนของประเทศไทยเฉลี่ย 1,000 มิลลิเมตรต่อปี นั่นหมายความว่า ปริมาณน้ำเสริมอ้อยที่เราต้องจัดการเท่ากับ 500 มิลลิเมตรซึ่งเราต้องนำตัวเลขนี้มาออกแบบแหล่งน้ำในแปลงอ้อย เพื่อให้น้ำเสริมอ้อยนอกฤดูฝน ซึ่งปัจจัยหลักของน้ำที่จะมาเสริมฝนคือ ต้นทุนของน้ำที่เราออกแบบ ไม่ว่าจะเป็นสระน้ำ บ่อบาดาล หรือแหล่งน้ำตามลำห้วย

ขนาดของบ่อน้ำเสริมอ้อยที่เหมาะสม

ตัวอย่างการออกแบบหรือหาแหล่งน้ำเสริมนอกฤดูฝน เช่น ถ้าต้องการน้ำเสริมอ้อย 500 มิลลิเมตร หรือประมาณ 6 ครั้งต่อฤดูกาล เฉลี่ยครั้งละ 80 มิลลิเมตร หรือประมาณ 100 ลูกบาศก์เมตร (คิว) ซึ่งการออกแบบน้ำชลประทานในไร่อ้อย ต้องเลือกวิธีที่ใช้น้ำปริมาณสูงสุดมาออกแบบ โดยการให้น้ำเสริมอ้อยที่มิตรผลใช้มี 3 แบบ คือ น้ำหยด (ใช้นำ 50 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) น้ำพุ่ง (ใช้น้ำ 80 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) และน้ำราด (100 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่) ถ้าเรามีพื้นที่ 10 ไร่ ต้องให้น้ำ 1,000 ลูกบาศก์เมตร นี่คือตัวเลขที่ต้องสร้างแหล่งน้ำ ทั้งนี้โดยปกติเราไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ทั้งหมด เนื่องจากมีน้ำนอนก้นโดยประมาณ 20% ที่นำมาใช้ไม่ได้ เราจึงต้องออกแบบปริมาณเพิ่มเป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตรนั่นเอง

แหล่งน้ำเสริมอ้อยมีอะไรบ้าง

การขุดสระ : มิตรผลมีนโยบายส่งเสริมการขุดสระขนาด 1,260 ลูกบาศก์เมตร ให้แก่มิตรชาวไร่ ตามมาตรฐานของกรมพัฒนาที่ดิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดและความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ มีปัญหาเรื่องชั้นดินเป็นกรวดทรายที่ไม่อุ้มน้ำ เรื่องการขุดสระจึงไม่ใช่ความสำคัญลำดับแรกที่พื้นที่นี้ต้องทำ ถ้าจุดไหนที่เราไม่สามารถขุดสระน้ำได้ ต้องมองหาศักยภาพอื่นต่อไป เช่น น้ำใต้ดิน เป็นต้น

น้ำใต้ดิน หรือ น้ำบาดาล คือน้ำที่อยู่ใต้ดินแข็งหรือหิน หรือน้ำที่ลึกจากผิวดินประมาณ 15 เมตร น้ำบาดาลมีหลายชั้น แล้วแต่ความเหมาะสมที่เกษตรจะนำน้ำชั้นไหนไปใช้ ปัจจุบันใช้การขุดบ่อบาดาลแบบแรงดัน เจาะในช่วงไม่เกิน 50 เมตร เนื่องจากต้นทุนการเจาะบ่อดาลค่อนข้างสูง

บ่อบาดาล มี 2 ประเภท ได้แก่

บ่อเปิด นิยมขุดในภาคอีสาน ข้อดีคือ ประหยัด เจาะง่าย เจาะเพียง 10 เมตร ด้วยการใส่ท่อพีวีซีกันพัง แล้วเจาะทะลวงลงไป ราคาค่าดำเนินการเมตรละ 1,000 เฉลี่ยราคา 35,000 ต่อหนึ่งบ่อ

บ่อบาดาลแบบปิด ส่วนมากพื้นที่ภาคกลางจำเป็นต้องขุดบ่อบาดาลประเภทนี้ เนื่องจากในชั้นดินมีชั้นโคลนหรือทรายที่สไลด์แทรกเข้ามา ในการเจาะต้องใส่ท่อเพื่อกันดินไหลเข้าท่อ ป้องกันบ่อตัน วิธีนี้ทำยาก และราคาสูง เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเมตร

วิธีการนำน้ำมาใช้

น้ำผิวดินจากสระ ใช้เครื่องยนต์แบบปั๊มหอยโข่ง ทั่ว ๆ ไป สูบจากลำห้วยหรือสระมาใช้

น้ำบาดาล เนื่องจากปั๊มหอยโข่งมีข้อจำกัดสูบได้ในระยะที่ตัวปั๊มกับแหล่งน้ำห่างกันไม่เกิน 8 เมตร ถ้าระยะของแหล่งน้ำไกลมากกว่านี้ ต้องใช้ปั๊มจุ่มหรือซับเมอร์ส ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้า ปัญหาตามมาคือ จุดที่ไม่แหล่งไฟฟ้า มิตรชาวไร่ต้องลงทุน ซื้อเครื่องปั่นไฟ หรือโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้กับเครื่องซับเมอร์สในขั้นต่อไป

ปัจจุบันมิตรผลส่งเสริมเรื่องระบบชลประทานในไร่อ้อยให้แก่มิตรชาวไร่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสร้างแหล่งน้ำ การนำน้ำขึ้นมาใช้ การกระจายน้ำ รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการนำน้ำมาใช้ด้วยระบบน้ำหยด ทั้งนี้เรามีอุปกรณ์ทุกอย่างไว้คอยบริการอีกด้วย

น้ำ + หลักสี่เสา ส่งเสริมกันอย่างยั่งยืน

หลักการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม มีหลักสี่เสาพลัสเป็นองค์ความรู้ให้การทำไร่อ้อยสมัยใหม่มีประสิทธิภาพและได้ประสิทธิผล ตั้งแต่กระบวนการเตรียมพื้นที่ ไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ทั้งนี้แนวทางการจัดการชลประทานที่ดี การหาแหล่งน้ำเสริมอ้อยให้เพียงพอ จะเป็นการการันตีความมั่นคงด้านวัตถุดิบในไร่อ้อย เพราะ น้ำ คืออีกปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับองค์ประกอบอื่น ๆ ตั้งแต่เรื่องการเตรียมพื้นที่ การบำรุงรักษา การใส่ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช

จากการศึกษาพบว่า แปลงอ้อยที่ไม่มีแหล่งน้ำเสริมอ้อย มีผลผลิตเฉลี่ย 8-9 ตันต่อไร่ แปลงอ้อยที่มีน้ำ แต่ขาดการบำรุงรักษาอย่างอื่น ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 12-15 ตันต่อไร่ แต่แปลงอ้อยที่ผู้เล่นครบทุกตำแหน่ง ทั้งเรื่องน้ำ เรื่องการจัดการทุกอย่าง ผลผลิตได้ถึง 20-30 ตันต่อไร่เลยทีเดียว

เห็นหรือยังครับว่า “น้ำ” คือสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดในการเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยได้อย่างแท้จริง

ข่าวปักหมุด