มิตรชาวไร่คงได้ติดตามข่าวช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับ การควบคุมอาหารที่มีไขมันทรานส์….ไขมันทรานส์คืออะไร? ทำไมต้องควบคุม? มาดูคำตอบกันค่ะ
ไขมันทรานส์ คือ ไขมันชนิดที่เกิดจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนเพียงบางส่วนหรือ Partially Hydrogenated Oil (PHO) มักพบในมาร์การีนกับเนยขาว ซึ่งตามปกติในกระบวนการผลิตอาหารทุกชนิดมีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมอยู่แล้ว เพียงแต่มีปริมาณน้อย แต่เมื่อรับประทานต่อเนื่องสะสม จะเกิดอันตรายต่อร่างกายได้
นี่จึงเป็นที่มาของการควบคุมอาหารที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ.2522 กำหนดให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน(ไขมันทรานส์) และอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการนี้เป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย โดยให้ระยะเวลาผู้ประกอบการในการปรับปรุงกระบวนการผลิต 6 เดือน นับจากวันที่ 13 มิถุนายน 2561
เบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เชิญสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเข้าไปหารือเพื่อออกมาตรการกำกับดูแลถึงวิธีการกำหนดข้อความบนฉลากที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจ และถูกตามระเบียบ ซึ่งบางส่วนเห็นว่า ควรกำหนดให้ทำแบบฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 หรือกำหนดแบบกระทรวงสาธารณสุขใช้น้ำตาล น้ำมันไม่เกินกี่ช้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ การวัดค่าเฉลี่ยการมีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมแล้วไม่ก่อให้เกิดอันตรายจะมี 2 แบบคือ กำหนดอัตราการมีไขมันทรานส์เป็นส่วนผสมสูงสุดเป็น “เปอร์เซ็นต์” หรือเป็น “กรัม” 0.5-1 กรัมต่อ 100 กรัมขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ
ประเทศที่บังคับใช้การควบคุมไขมันทรานส์แล้ว ได้แก่ สหรัฐ แคนาดา เดนมาร์ก จีน ส่วนในอาเซียนมีประเทศไทยและมาเลเซียที่เริ่มดำเนินการแล้ว
ขอบคุณที่มา: https://www.prachachat.net/economy/news-200639