หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ แม้คนไทยอย่างเราจะชินชากับสภาพอากาศที่ร้อน ร้อนมาก และร้อนที่สุดจนดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ แต่ทว่าอันตรายที่มาจากอากาศและแดดที่ร้อนเปรี้ยงปร้าง เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามอย่างที่สุดนะคะ ถึงแม้เราจะทำงานออกไร่เคยชินกับแดดมานาน แต่ภัยเงียบเหล่านี้ ไม่มีใครรู้ล่วงหน้าว่าจะเกิดกับตัวเองเมื่อไหร่ ดังนั้นเรามาดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายจากโรคภัยที่มากับแดดร้อนกันดีกว่าค่ะ

4 โรคอันตรายที่มาพร้อมแดด

  1. ลมแดด (ฮีทสโตรก) โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก คืออาการที่เป็นลมจากอากาศร้อนจัด เพราะร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้น บวกกับอาการขาดน้ำที่จะมาช่วยหล่อเลี้ยงร่างกาย เนื่องจากร่างกายสูญเสียน้ำจากร่างกายออกไปทางเหงื่อจำนวนมาก แล้วไม่ได้ดื่มน้ำเข้าสู่ร่างกายเพื่อทดแทนเหงื่อที่เสียไป จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายช็อคจากการขาดน้ำและเป็นลมได้ค่ะ
  2. เพลียแดด เพลียแดดมีอาการคล้ายลมแดด แต่อาจจะยังไม่ถึงขั้นมีอาการชัก หรือเป็นลมล้มพับไปต่อหน้าต่อตาขนาดนั้น แต่ถึงอย่างไรอาการเพลียแดดก็อันตรายไม่แพ้ลมแดด เพราะอาการเพลียแดด สามารถเป็นได้ตั้งแต่ปวดศีรษะ มึนหัว บ้านหมุน หน้ามืด อ่อนเพลีย หมดแรง คลื่นไส้ ถึงจะยังไม่หมดสติ แต่การขาดสติสัมปชัญญะไปบางส่วน อาจเกิดอันตรายระหว่างทำงาน หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันอยู่ได้ เช่น เพลียแดดระหว่างทำงานกับเครื่องจักรกล หรือเพลียแดดระหว่างขับรถ ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเสียชีวิตได้
  3. ตะคริวแดด ลักษณะอาการตะคริวแดดเหมือนกับตะคริวธรรมดา ๆ ทั่วไป คือกล้ามเนื้อกระตุก เกร็ง และรู้สึกเจ็บปวดบริเวณที่เป็นตะคริว อาการตะคริวที่พบมักเป็นช่วงขา แขน และหลัง หากมีอาการตะคริวแดดให้รีบหยุดทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่นิ่ง ๆ แล้วค่อย ๆ ดื่มน้ำ หรือดื่มน้ำผลไม้ เพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย และชดเชยน้ำ และเกลือแร่ที่เสียไป
  4. ผิวหนังไหม้เกรียมแดด หากทำงานหรือกิจกรรมกลางแจ้งโดยไม่ปกป้องผิวหนังจากแสงแดด อาจทำให้ผิวหนังไหม้เกรียมแดดได้ ซึ่งอาจทำให้ผิวลอก แสบ และอักเสบ ซึ่งวิธีป้องกันโรคต่าง ๆ ที่มากับแดด มิตรชาวไร่สามารถดูแลตัวเองได้ด้วยการ ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี โปร่งสบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป  หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าหนา ๆ หรือสีเข้ม หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัดนาน ๆ ปกป้องร่างกายจากแดดด้วยการใส่หมวก กางร่ม สวมแว่นกันแดด และทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 15 สามารถทาทับเพิ่มเติมได้หากเหงื่อออก

โรคจากแดด_2.JPG

อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ดื่มน่ำให้มาก ๆ ดื่มเรื่อย ๆ เมื่อกระหายน้ำ หรือหากต้องทำงานกลางแสงแดดร้องเปรี้ยงจริง ๆ ควรพักเข้ามาหลบอยู่ในที่ร่มบ้าง หรือทุก ๆ ชั่วโมง

ที่สำคัญให้หมั่นสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการร้อนในร่างกาย เหงื่อไม่ออก คลื่นไส้ เวียนศีรษะ มีอาการงง พูดช้าลง เลอะเลือน เคลื่อนไหวช้า ควรรีบหยุดการทำงาน ขอความช่วยเหลือจากคนใกล้ตัว หากอาการไม่ดีขึ้นต้องไปพบแพทย์ทันทีนะคะ

ที่มาข้อมูล-ภาพ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

https://www.thairath.co.th/

 

 

 

ข่าวปักหมุด