หน้าแรก

ในโลกใบนี้ มีพืชไร่หลายชนิดให้เกษตรกรได้เลือกสรรมาปลูกเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องกัน “อ้อย” ก็เป็นพืชไร่อีกชนิดที่มีเกษตรกรนิยมปลูกมาก ด้วยเหตุผลที่อ้อยปลูกง่าย ให้ผลผลิตดี ทนแล้ง ทนฝน ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้อ้อยได้รับคัดเลือกจากพี่น้องเกษตรกรให้เป็นพืชไร่ที่ทำรายได้ดีอีกหนึ่งชนิดของประเทศ

แน่นอนว่า การปลูกอ้อย หรือ พืชไร่ชนิดอื่น ไม่ได้มีคัมภีร์บอกวิธีปลูกตายตัว ใครสะดวกแบบไหนก็ปลูกแบบนั้น ปู่ย่าตาทวดเคยพาทำแบบไหนก็ทำ บางคนศึกษาหาข้อมูลใช้วิธีปลูกสมัยใหม่ร่วมกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ก็มี แล้วแต่ความเหมาะสม สิ่งไหนที่ควรเปลี่ยนก็น่าจะเปลี่ยน สิ่งไหนดียังคงยึดถือไว้เป็นหลักปฏิบัติก็สมควรยึดตามแนวทางนั้นอยู่

ว่าด้วยเรื่อง “ตัดอ้อยเผาใบ” เป็นอีกวิธีการทำไร่แบบยุคโบราณ ที่เน้นสะดวก ประหยัด รวดเร็ว แต่สิ่งที่แฝงมากับความสะดวกแบบโบราณนี้คือ ความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเผาอ้อย

ในอดีตมีความเชื่อว่า การตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดินทำให้อ้อยแตกหน่อน้อย มีจำนวนลำน้อย ลำอ้อยมีขนาดใหญ่ ขณะที่การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยว ทำให้อ้อยตอแตกหน่อเร็ว มีจำนวนหน่อมาก แต่หน่อมักจะมีขนาดเล็ก

มีข้อมูลที่ผ่านการศึกษาโดยนักวิจัยอ้อยทั่วโลกพบว่า การตัดอ้อยสด และไว้ใบคลุมดินทำให้อ้อยตอมีผลผลิตมากกว่าการเผาอ้อย 1.2-1.5 ตันต่อไร่ ขณะเดียวกันพบว่าแปลงอ้อยที่ตัดสดไว้ใบคลุมดิน จะสูญเสียความชื้น และเกิดการชะล้างพังทะลายของดินน้อยกว่า โดยเฉพาะในแปลงที่มีความลาดชันสูง เช่น ในกรณีที่แปลงมีความลาดชัน 11% การตัดอ้อยสด และไว้ใบคลุมดินจะลดการสูญเสียน้ำฝนจากการไหลหลากออกนอกแปลงได้ถึง 90% และลดการชะล้างพังทะลายของดินได้ถึง 60% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้อ้อยมีการไว้ตอได้น้อยลง ชาวไร่ต้องไถรื้อตอบ่อยมากขึ้น แน่นอนว่าทำให้เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นด้วย

ในด้านคุณภาพอ้อยพบว่า ในสภาพอากาศร้อนการเผาอ้อยก่อนตัด ทำให้ความหวานของอ้อยลดลงวันละ 2.3% ขณะที่การตัดอ้อยสดความหวานจะลดลงวันละ 1.6% ซึ่งต่างกันถึง 40% เลยทีเดียว  โดยพบว่าเมื่อเผาอ้อย ลำอ้อยเมื่อโดนความร้อนสูงลำจะแตก น้ำอ้อยจะเยิ้มซึมออกมา เชื้อโรคจะเข้าไปใช้น้ำตาลในลำอ้อยเป็นอาหาร ทำให้คุณภาพอ้อยลดลง และเชื้อจุลินทรีย์ยังไปสร้างสารเหนียวซึ่งไปขัดขวางกระบวนการผลิตน้ำตาลในโรงงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำน้ำตาลมากยิ่งขึ้น

นอกจากการเผาอ้อยจะมีผลเสียดังที่กล่าวมาแล้ว เมื่อพิจารณาถึงปริมาณใบ และยอดที่ถูกทิ้งไว้ในแปลงจากการตัดอ้อยสดกรณีที่อ้อยมีผลผลิตเฉลี่ย 10 ตันต่อไร่ จะมีเศษใบ เศษยอด ถูกทิ้งไว้ในไร่ระหว่าง 1.4 ถึง 1.8 ตัน คิดเป็นมูลค่าเมื่อเก็บใบและยอดอ้อยขายแก่โรงไฟฟ้าในราคาตันละ หนึ่งพันบาทและเก็บออกมาส่งขายโรงไฟฟ้าแค่ครึ่งหนึ่งจะมีมูลค่า 700 ถึง 1,400 บาทต่อไร่เลยทีเดียว และในกรณีที่มีการสับคลุกใบลงดินจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้ดินถึง 7 กิโลกรัม โปแทสเซียม 10 กิโลกรัม และฟอสฟอรัส 7 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งเทียบได้กับปุ๋ยสูตร 14-20-14 จำนวน 1 กระสอบ

และที่น่าเป็นห่วงคือ การเผาอ้อยจะทำให้เกิดมลภาวะจากฝุ่นละออง ขี้เถ้า ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะในปัจจุบัน มีการศึกษากันว่า การเผาอ้อยจะเพิ่มปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญชนิดหนึ่ง

ในฐานะเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มิตรชาวไร่สามารถช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย ๆ ด้วยการ ตัดอ้อยสด ทิ้งใบอ้อยคลุมดิน บางคนอาจเถียงในใจ คำว่า “ง่าย” นั้นพูดง่าย แต่ให้ทำมันยาก อย่าให้คำว่า “ยาก” มาเป็นเงื่อนไขการทำไร่อ้อยแบบไร้มลพิษของท่านเลยค่ะ เพียงแค่ตัดสินใจและลงมือทำ คำว่า “ง่าย” มันเกิดขึ้นได้จริงแน่นอน

ข่าวปักหมุด