- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- พฤ., 6 ก.พ. 63
อโรคยา ปรมาลาภา ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ พุทธพจน์บทนี้เป็นพรที่ทุกคนต่างขอให้เกิดขึ้นกับตนเอง จะยากดีมีจน ร่ำรวยเงินทอง แต่ร่างกายเจ็บป่วยเป็นประจำ ก็คงหาความสุขในชีวิตได้ยาก ดังนั้น การรู้รักษาตัวรอด จากโรคภัย เป็นสิ่งที่ทุกคนพึงกระทำที่สุด
หลายโรคภัยเกิดขึ้นโดยไม่มีใครคาดคิด ไม่มีการเจ็บป่วยล่วงหน้า ไม่มีจดหมายแจ้งเตือนให้ระวังตัว บทจะเกิดก็เกิดขึ้นมาซะดื้อ ๆ เล่นเอาเสียชีวิตเลยก็มี อย่างเช่น โรคฮีทสโตรก Heatstroke หรือโรคลมแดด ภัยเงียบที่คร่าชีวิตคนมานักต่อนัก นอนเป็นผักบ้างก็มี โรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างฉับพลัน โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อน ๆ แบบนี้ แต่หากรู้ทันและป้องกันตนเอง ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ก็มีน้อยลง
โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heatstroke) คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป เกิดจากการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัดหรือการออกกำลังกายเป็นเวลานานโดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ
อาการของโรคลมแดด สามารถเกิดขึ้นได้ในทันทีโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน และอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันออกไปแต่ละบุคคล ที่พบได้บ่อย ได้แก่
สาเหตุของโรคลมแดด ได้แก่ การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง หรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานาน การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้กำลังมาก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดโรคลมแดด ได้แก่ การสวมใส่เสื้อผ้ามากชิ้นเกินไป เสื้อผ้าระบายความร้อนได้ไม่ดี และมีสีเข้ม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดื่มน้ำไม่เพียงพอ ทำให้ร่างกายอยู่ในภาวะขาดน้ำ ไม่มีน้ำทดแทนจากการเสียเหงื่อ เป็นต้น
การรักษาโรคลมแดดขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งผู้ที่เกิดอาการต้องได้รับความช่วยเหลือในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสมองและอวัยวะที่สำคัญในร่างกาย ด้วยการทำให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงเป็นปกติโดยเร็ว
เบื้องต้นก่อนนำส่งโรงพยาบาล คนรอบข้างอาจช่วยเหลือผู้ป่วยได้โดยการนำตัวไปไว้ในที่ร่มหรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ ถอดหรือคลายเสื้อผ้าที่คับแน่นออก และประคบด้วยความเย็น
วิธีการรักษาเพื่อให้อุณหภูมิในร่างกายลดลง ได้แก่ ให้ผู้ป่วยอาบน้ำเย็นหรือแช่ตัวลงไปในน้ำเย็น เป็นวิธีที่จะช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายลดลงได้อย่างรวดเร็ว หรือหากผู้ป่วยยังรู้สึกตัว ควรให้ดื่มน้ำเย็นที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
โรคลมแดดทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกิดอาการและหากได้รับการช่วยเหลือล่าช้า อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองหรืออวัยวะที่สำคัญอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ไตวายหรือหัวใจวาย และอาจทำให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรได้ นอกจากนั้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือรักษาได้ไม่ดีพอ อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ที่สำคัญ “รู้อะไรไม่สู้ รู้ตนเอง” ต้องหมั่นสังเกตอาการหรือความผิดปกติในร่างกายของตนเอง เพราะเมื่อเกิดอะไรขึ้นจะช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้.
ขอบคุณที่มา : https://www.pobpad.com
ขอบคุณภาพประกอบ : https://www.redcross.org.au/