30% ของพื้นที่ทั่วประเทศไทย ดินมีปัญหาขาดอินทรียวัตถุ ที่เป็นแบบนี้มีหลายสาเหตุ อาทิ ประเทศเราอยู่ในเขตร้อนชื้น เหมาะต่อการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์, การปลูกพืชที่ไม่ใส่ใจใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือแม้แต่การเผาทำลายเศษซากวัสดุอินทรีย์ รวมถึงการตัดไม้ทำลายป่ารุนแรง ล้วนเป็นสาเหตุของปัญหาดินขาดอินทรียวัตถุ
อินทรียวัตถุมีบทบาทต่อดินอย่างไร
- เป็นอาหารของจุลินทรีย์ที่สังเคราะห์อาหารเองไม่ได้
- ส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน
- ปรับปรุงโครงสร้างดิน การระบายน้ำ อากาศ
- เพื่มความจุในการแลกเปลี่ยนประจุบวก (CEC) ดิน
- เพิ่มความต้านทานการเปลี่ยนแปลงปฏิกิริยาดิน (pH)
- เพิ่มความเสถียรของเม็ดดิน ลดการกร่อนของดิน
- เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำของดิน
- เพิ่มช่วงความชื้นที่เป็นประโยชน์ในดิน
ทั้งนี้ เมื่อดินเกิดปัญหาขาดอินทรียวัตถุ ใช่ว่าจะเยียวยาหรือรักษาไม่ได้ ในฐานะเกษตรกรผู้ใช้ประโยชน์จากดิน เราต้องรู้จักและบำรุงรักษา และแก้ปัญหาเมื่อดินไม่โอเค การจัดการปัญหาดินที่ขาดอินทรียวัตถุมีวิธีง่าย ๆ ดังนี้
การจัดการปัญหาดินที่มีอินทรียวัตถุต่ำ-ต่ำมาก
- ลดการไถพรวนให้น้อยที่สุด หรือทำการเกษตรแบบไม่ไถพรวน
- ลดการปล่อยพื้นที่ว่าง โดยใช้เศษวัสดุทางการเกษตรปกคลุมดิน เช่น ทิ้งใบอ้อยคลุมดิน เป็นต้น
- ปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อพักดิน และเพิ่มสารอินทรีย์ให้ดิน เช่น ความชื้นในดิน หรือการจัดการเกี่ยวกับไนโตรเจน เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่ว ในช่วงพักดินจากการปลูกอ้อย เป็นต้น
- หาสารอินทรีย์จากแหล่งอื่นมาใส่เพิ่มเติมในดิน เช่น ใส่ปุ๋ยคอก หรือกากชานอ้อย เพื่อบำรุงดิน เป็นต้น
ด้วยหลักการง่าย ๆ ไม่ซับซ้อนทั้ง 4 ข้อ เป็นวิธีแก้ปัญหาดินไม่สมบูรณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทราบอย่างนี้แล้ว หากพื้นดินท่านใดมีปัญหา ทดลองใช้ 4 วิธีด้านบนนี้ได้ เพื่อคืนความสมบูรณ์ให้ดิน.