สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกคน ช่วงนี้เรื่องของ “ไฟไหม้ป่า” เป็นหนึ่งในกระแสที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางในระดับโลก โดยเฉพาะไฟป่าอเมซอนที่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะดับลง
ป่าอเมซอนเป็นป่าฝนขนาดใหญ่ที่กินพื้นที่ 5.5 ล้านตารางกิโลเมตร ขณะที่ ลุ่มน้ำอเมซอนมีพื้นที่ 7.4 ล้านตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตทั้งหมด 9 ประเทศ ได้แก่ โบลิเวีย บราซิล โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เปรู ซูรินาเม และเวเนซูเอลา แต่ 60% ของพื้นที่ลุ่มน้ำอเมซอนอยู่ในบราซิล ถือเป็นแหล่งโอโซนที่สำคัญของโลกและผลิตออกซิเจนมากถึง 20% นอกจากนี้ยังทำหน้าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ สูงสุด 1.4 แสนล้านตัน ซึ่งช่วยควบคุมภาวะโลกร้อน
ปัญหาไฟป่าอเมซอนเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลบราซิลพยายามแก้ไขมาเนิ่นนาน เนื่องจากมีการบุกรุกป่าแผ้วถางเพื่อทำการเกษตร ทั้งนี้มนุษย์เข้าไปอาศัยอยู่ประมาณ 34 ล้านคน บ้านของชนพื้นเมือง 420 เผ่า
ปัญหาไฟป่าอเมซอน ยิ่งแย่เข้าไปอีกจากนโยบายเปิดป่า โดยเมื่อ 23 ส.ค. 2560 รัฐบาลบราซิลได้เผยแพร่คำสั่งของ มิเชล เตเมร์ อดีตประธานาธิบดี ที่ประกาศยกเลิกคำสั่งเขตพื้นที่สงวนแห่งชาติในเขตป่าอเมซอน (National Reserve of Copper and Associates: Renca) ที่ถูกเขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1984 เพื่อเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้เอกชนเข้าไปทำเหมืองแร่ ส่งผลให้มีการแผ้วถางพื้นที่ ตัดไม้ทำลายป่า 1 ในนั้นคือการ "เผา"
เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติของบราซิล (ไอเอ็นพีอี) ได้เปิดเผยรายงานเกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าในผืนป่าอเมซอน ซึ่งระบุว่าอัตราการทำลายป่าในเดือน มิ.ย. 2562 เพิ่มขึ้นถึง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561
รายงานของไอเอ็นพีอีเปิดเผยว่า ระหว่างเดือน ม.ค.-ส.ค. 2562 ตรวจพบการเกิดไฟป่าในป่าอเมซอนมากถึง 72,000 จุด ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ ระหว่างวันที่ 15-21 ส.ค. เกิดไฟป่ามากถึง 9,500 ครั้ง เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เห็นหรือไม่ว่า ขนาดผืนป่าที่ยิ่งใหญ่อย่างป่าอเมซอนยังวอดวายได้จนโลกต้องเสียแหล่งผลิตก๊าซออกซิเจนและโอโซนไปอย่างไม่สมควร แล้วหากชาวไร่เผาอ้อยของตัวเองเพื่อตัดอ้อย นอกจากจะเป็นการทำร้ายโลกแล้ว ยังเป็นการทำลายก๊าซออกซิเจน ทำให้ลูกหลานของเราอาจต้องซื้ออากาศสำหรับหายใจในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มาข้อมูล: https://www.tnnthailand.com/content/15198