สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ ช่วงนี้นอกจากประเทศไทยจะเจอกับปัญหาของโรคระบาดอุบัติใหม่อย่างโควิด-19 ที่ระบาดในคน พี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงโคกระบือยังเจอโรคอุบัติใหม่ด้านปศุสัตว์อย่างลัมปีสกิน เชื้อไวรัสที่เกิดขึ้นเฉพาะกับโคกระบือเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่ามันไม่ใช่โรคที่จะสามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่ในขณะเดียวกันหากโคกระบือของเกษตรกรรายไหนได้รับเชื้อแล้วรักษาไม่ทัน ความเสียหายเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
สำหรับมิตรชาวไร่ที่ยังไม่รู้จักที่ไปที่มาของโรคนี้ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีข้อมูลเกี่ยวกับลัมปีสกินมาฝากค่ะ
โรคลัมปีสกิน เกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Lumpy skin disease virus ซึ่งสัตว์ที่ติดเชื้อจะมีไข้สูง เบื่ออาหาร มีน้ำตาไหลตลอดเวลา และมีตุ่มน้ำเหลืองขนาดใหญ่ประมาณ 2-5 เซนติเมตร ขึ้นอยู่ทั่วทั้งร่างกาย แต่จะพบมากที่บริเวณคอ หัว เต้านม ถุงอัณฑะ และหว่างขา
ที่สำคัญตุ่มที่ขึ้นมาอาจแตกและตกสะเก็ดเป็นเนื้อตาย หากเป็นแบบนั้นก็จะทำให้หนอนหรือแมลงเข้ามาไชจนติดเชื้อได้
นอกจากนี้โคกระบือยังมีอาการซึม มีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และทางเดินอาหารร่วมด้วย ในส่วนของโคนมก็อาจจะเกิดการแท้งลูก และมีปริมาณน้ำนมที่ลดน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับพาหะที่เป็นตัวนำเชื้อโรคนี้ไปติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ จะได้แก่ เห็บ ยุง แมลงวัน แต่ทั้งนี้ก็สามารถเกิดขึ้นเองได้ผ่านการใกล้ชิดกันเองของกลุ่มสัตว์ ทั้งจากน้ำลาย สารคัดหลั่ง สะเก็ดแผล และการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งหากแมลงเป็นพาหะจะสามารถบินได้ไกลถึง 50 กิโลเมตร ดังนั้นแมลงอาจจะกินเลือดโคกระบือที่มีเชื้อในพื้นที่หนึ่งและบินไปกระจายเชื้อในพื้นที่อื่น ๆ ได้
จุดเริ่มต้นของโรคนี้เริ่มต้นขึ้นในเอเชียเมื่อประมาณปี 2562 เกิดขึ้นที่บริเวณจีนแผ่นดินใหญ่ บังกลาเทศ และอินเดีย จากนั้นได้ลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยเองก็ได้มีการเฝ้าระวัง และประกาศชะลอการนำเข้าโคกระบือจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดทางปศุสัตว์ก็ได้ออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักกับชุมชน
อย่างไรก็ดี แม้โรคที่กำลังเกิดขึ้น จะไม่มียารักษาที่หายขาดทันที แต่เป็นการรักษาตามอาการ และโรคชนิดนี้ไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ดังนั้นเกษตรกรจะต้องแยกสัตว์ที่แสดงอาการออกจากสัตว์ตัวอื่น เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา และกักกันโรค ควบคู่กับการกำจัดพาหะแมลงดูดเลือดด้วยการทำความสะอาดสัตว์เลี้ยงให้บ่อยครั้ง และใช้สารกำจัดแมลงละลายน้ำ พ่นบริเวณตัวสัตว์และบริเวณคอกในฟาร์มอย่างสม่ำเสมอ โดยห้ามรับประทานโคหรือกระบือที่ป่วยด้วยโรคดังกล่าวนี้เด็ดขาด และหากพบว่าโค กระบือเสียชีวิต จะต้องทำการฝังดิน และปิดทับด้วยปูนซีเมนต์เท่านั้น
สำหรับมิตรชาวไร่ที่เลี้ยงโคกระบือร่วมกับการปลูกอ้อย ช่วงนี้ควรหมั่นสังเกตอาการของโคและกระบือกันด้วยนะคะ เริ่มจากการดูว่ามีตุ่มนูนแข็งขึ้นตามลำตัวหรือไม่ ต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีไข้สูง บางตัวอาจมีอาการซึม น้ำนมอาจลดลง หรือมีอาการตาหรือขาบวมอักเสบ เป็นต้นค่ะ ทั้งนี้เพื่อให้ทราบความผิดปกติที่เกิดขึ้นจากโคกระบือของเรา และการป้องกันรักษาอย่างทันท่วงทีก่อนจะเกิดความเสียหายที่รุนแรงมากขึ้น
โรคลัมปีสกิน เป็นโรคติดต่อในโค กระบือ แต่ไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์ชนิดอื่นเหมือนกับโรคฝีดาษ-สุกร เกิดโรคเฉพาะในสุกร ไม่ติดต่อสู่สัตว์ชนิดอื่น และไม่ติดต่อสู่คนเช่นกัน แต่ไม่แนะนำให้กินเนื้อวัวที่ป่วยเป็นโรค ควรบริโภคเนื้อวัวที่ได้รับการรับรองมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัยจากกรมปศุสัตว์เท่านั้น
นอกจากนี้ การบริโภคเนื้อสัตว์จึงต้องรับประทานสุกทุกกรณี เพื่อหลีกเลี่ยงโรคบางโรคที่เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ เช่น โรคท้องร่วง หรือ โรคหูดับ (Streptococcus suis) เป็นต้น
ที่มาข้อมูล-ภาพ