วันนี้ (2 ก.ย.2562) นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ธ.ก.ส.สาขาต่างๆ ได้วางแผนเข้าสำรวจความเสียหายในพื้นที่ คาดว่าจะสามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า พร้อมวางมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเกษตรกร โดยจะใช้วงเงินเดียวกันกับภัยแล้ง เพราะเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้อนุมัติวงเงินไว้ 55,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันใช้ไปเพียง 3,000 ล้านบาท
ส่วนผู้ประสบภัยน้ำท่วม สามารถติดต่อขอพักชำระเงินต้นได้นานสูงสุด 4 ปี และขอสินเชื่อฉุกเฉินได้คนละไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้เพื่อลดการพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ นอกจากนี้ ธ.ก.ส.พร้อมปล่อยสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูบ้านเรือนเช่นกัน โดยมีระยะผ่อนชำระนานสูงสุด 15 ปี
ขณะที่นายพงชาญ สำเภาเงิน รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการแทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอี แบงก์) ระบุว่า ได้ออกมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ส่วนกรณีสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน จะพักชำระหนี้เฉพาะดอกเบี้ย ไม่เกิน 6 เดือน
อีกทั้งได้เตรียมวงเงินสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการปลอดชำระคืนเงินต้นไม่เกิน 1 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.415 ต่อเดือน ตลอดอายุสัญญากู้ได้คนละ 500,000 บาท แต่ไม่เกิน 2 ล้านบาท และรวมวงเงินกู้เดิมไม่เกิน 15 ล้านบาท โดย บสย.สามารถสนับสนุนหลักประกันได้ กรณีกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท
ด้านนายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.ได้ออก 7 มาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือลูกค้าประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัยจากพายุโพดุล ในกรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ลูกค้าที่ประสงค์ขอรับบริการของ “โครงการเงินกู้ที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติปี 2562” สามารถติดต่อได้ที่สาขาของ ธอส. ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ถึงภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2562 หรือภายใต้กรอบวงเงินที่ธนาคารกำหนด