หากจะตำส้มตำปลาร้าแซ่บ ๆ สักครกหนึ่ง นอกจากต้องเตรียมมะละกอและเครื่องปรุงให้ครบถ้วนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นหัวใจสำคัญจะทำให้ส้มตำอร่อยหรือไม่ ก็คือ “ปลาร้า” นั่นเอง ว่ากันว่าหากปลาร้าไม่อร่อย จะตำอย่างไรก็ไม่แซ่บ เช่นเดียวกันกับการปลูกอ้อย ต่อให้มีอ้อยพันธุ์ดีสักแค่ไหน แต่ดินที่ใช้ปลูกอ้อยนั้นด้อยคุณภาพ อ้อยก็คงจะเจริญเติบโตได้ยากเต็มที
“ดิน” จึงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการปลูกอ้อย เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้อ้อยเจริญเติบโตได้ดีมีผลผลิตสูง แต่การปลูกอ้อยแต่ละครั้งเราจะทราบได้อย่างไรว่าดินในแปลงของเรานั้น ดีพอหรือยัง เหมาะสมหรือไม่ จะช่วยให้อ้อยเจริญเติบโตเต็มที่ได้หรือเปล่า ...หากดูและคาดเดาเอาเองไม่มีทางรู้แน่นอนค่ะ ดังนั้นก่อนจะปลูกอ้อยทุกครั้งมิตรชาวไร่จึงจำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์คุณภาพดินก่อนเสมอ เพื่อให้ทราบถึงโครงสร้างของดินในแปลง ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารว่าเพียงพอและเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยหรือไม่ หรือดินมีปัญหาอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ทราบถึงแนวทางการแก้ไขปรับปรุงบำรุงดิน ทำให้การปลูกอ้อยได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น
การเก็บตัวอย่างดินที่ถูกต้อง
ตัวอย่างดินที่เก็บมาต้องเป็นตัวแทนที่ดีที่สุดของที่ดินแปลงนั้น หากเก็บตัวอย่างดินไม่ถูกต้อง ผลการวิเคราะห์ก็จะไม่ตรงกับสมบัติของดิน คำแนะนำการใช้ปุ๋ยและการจัดการดินจะผิดพลาดทั้งหมด หลักสำคัญของการเก็บตัวอย่างดินมีดังต่อไปนี้
- ควรเก็บดินหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว หรือก่อนเตรียมดินปลูกอ้อยครั้งต่อไป โดยจะต้องเผื่อเวลาสำหรับการส่งตัวอย่าง ระยะเวลาทำงานของห้องปฏิบัติการ จนถึงการส่งผลกลับมาให้ รวมแล้วประมาณ 1-2 เดือน
- พื้นที่ที่จะเก็บตัวอย่างดินไม่ควรเปียกแฉะหรือมีน้ำท่วมขัง แต่ถ้าแห้งเกินไปดินจะแข็ง ดินควรมีความชื้นเล็กน้อยจะทำให้ขุดและเก็บได้ง่ายขึ้น
- ไม่เก็บตัวอย่างดินบริเวณที่เคยเป็นบ้าน หรือโรงเรือนเก่า จอมปลวก เก็บให้ห่างไกลจากอาคารที่อยู่อาศัย คอกสัตว์ และบริเวณจุดที่มีปุ๋ยตกค้างอยู่
- อุปกรณ์ที่เก็บตัวอย่างดินต้องสะอาด ไม่เปื้อนดิน ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช หรือสารเคมีอื่น ๆ
- ต้องบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับตัวอย่างดินของแต่ละตัวอย่างตามแบบฟอร์ม "บันทึกรายละเอียดตัวอย่างดิน" ให้มากที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการให้คำแนะนำการจัดการดินให้ถูกต้องที่สุด
วิธีเก็บตัวอย่างดิน
- เตรียมเครื่องมือสำหรับขุดหรือเจาะเก็บดิน เช่น พลั่ว จอบ และเสียม ส่วนภาชนะที่ใส่ดิน เช่น ถังพลาสติก กล่องกระดาษแข็ง และถุงพลาสติกสำหรับใส่ตัวอย่างดินส่งไปวิเคราะห์
- ขนาดของแปลงที่จะเก็บตัวอย่างดินไม่จำกัดขนาดแน่นอน ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของพื้นที่ (ที่ราบ ที่ลุ่ม ที่ดินที่ลาดชัน เนื้อดิน สีดิน)
- สุ่มเก็บตัวอย่างดินกระจายให้ครอบคลุมทั่วแต่ละแปลง แปลงละ 15-20 จุด ก่อนขุดดินจะต้องถางหญ้า กวาดเศษพืช หรือวัสดุที่อยู่ผิวหน้าดินออกเสียก่อน (อย่าแซะหรือปาดหน้าดินออก) แล้วใช้จอบ เสียมหรือพลั่ว ขุดหลุมเป็นรูป V ให้ลึกในแนวดิ่งประมาณ 15 เซนติเมตร แล้วแซะเอาดินด้านหนึ่ง เป็นแผ่นหนาประมาณ 2-3 เซนติเมตร จากปากหลุมถึงก้นหลุม ดินที่ได้นี้เป็นดินจาก 1 จุด ทำเช่นเดียวกันนี้จนครบ นำดินทุกจุดใส่รวมกันในภาชนะที่เตรียมไว้
- ดินที่เก็บมารวมกันในถังถือว่าเป็นตัวอย่างดินที่เป็นตัวแทนของดินแปลงนั้น เนื่องจากดินมีความชื้นจึงต้องทำให้แห้ง โดยเทดินในแต่ละถังลงบนแผ่นผ้าพลาสติก หรือผ้ายางแยกกัน ถังละแผ่นเกลี่ยดินผึ่งไว้ในที่ร่มจนแห้ง ดินที่เป็นก้อนให้ใช้ไม้ทุบให้ละเอียดพอประมาณ แล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันจนทั่ว
- ตัวอย่างดินที่เก็บในข้อ 4 อาจมีปริมาณมากแบ่งส่งไปวิเคราะห์เพียงครึ่งกิโลกรัมก็พอ วิธีการแบ่ง เกลี่ยตัวอย่างดินแผ่ให้เป็นรูปวงกลมแล้วแบ่งผ่ากลางออกเป็น 4 ส่วนเท่ากัน เก็บดินมาเพียง 1 ส่วน หนักประมาณครึ่งกิโลกรัมใส่ในถุงพลาสติกที่สะอาด พร้อมด้วยแบบฟอร์มที่บันทึกรายละเอียดของตัวอย่างดินเรียบร้อยแล้วปิดปากถุงให้แน่นเพื่อส่งไปวิเคราะห์ (ใส่ในกล่องกระดาษแข็งอีกชั้นหนึ่งในกรณีที่ส่งแบบพัสดุไปรษณีย์)
เพียงเท่านี้มิตรชาวไร่ก็จะได้ตัวอย่างดินเพื่อนำส่งไปวิเคราะห์ โดยสามารถส่งไปที่ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ดิน สำนักงานพัฒนาที่ดินใกล้บ้าน หรือส่งมาที่ศูนย์นวัตกรรมและการวิจัยของมิตรผล ซึ่งเราเองก็มีบริการวิเคราะห์คุณภาพดิน และปุ๋ยที่เหมาะสมกับการปลูกอ้อยในแต่ละพื้นที่ด้วยเช่นกันค่ะ
ข้อมูลจาก : http://www.ldd.go.th/web_Soilanaly/Index.html
และ https://www.mitrphol.com/page_detail.php?p=5&topic=27
รูปภาพ : https://pikeconservation.org/soil-earth-dirt/