มิตรชาวไร่ทราบหรือไม่ว่า อ้อยที่เราปลูกเพื่อส่งให้โรงงานน้ำตาล ต้องการธาตุอาหารกว่า 16 ชนิดต่อการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัย ซึ่งส่วนใหญ่อ้อยจะได้รับธาตุอาหารอย่างเพียงพออยู่แล้วจากอากาศ น้ำ และดิน
แต่ธาตุอาหารหลักที่อ้อยต้องการ ไม่ได้มีอยู่ในดินอย่างเพียงพอ ซึ่งชาวไร่ต้องเสริมธาตุอาหารนี้แก่อ้อยเพื่อการเจริญเติบโตให้ผลผลิตอย่างเต็มที่
ธาตุอาหารที่อ้อยต้องการเพิ่มเติม เนื่องจากในดินมีไม่เพียงพอ มี 3 ชนิด ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ,ฟอสฟอรัส (P) และโปแตสเซียม (K)
ไนโตรเจน (N) เป็นธาตุอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของอ้อย ทำให้เกิดการแตกกอ และย่างปล้อง หากอ้อยขาดธาตุตัวนี้จะแสดงอาการใบเหลือง ใบมีขนาดเล็กลง ลำต้นแคระแกร็น และให้ผลผลิตต่ำ
ฟอสฟอรัส (P) เป็นธาตุอาหารที่ช่วยให้รากอ้อยเจริญเติบโตเร็วหาอาหารได้เก่ง และทำให้อ้อยแตกหน่อ และงอกได้ดี อ้อยจึงต้องการฟอสฟอรัสตั้งแต่เริ่มปลูก หากอ้อยขาดธาตุตัวนี้ จะทำให้ระบบรากไม่เจริญเติบโต ลำต้นแกร็น ใบเล็ก หรืออาจมีสีผิดปกติ
โปแตสเซียม (K) เป็นธาตุที่ช่วยในการสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ทำให้อ้อยเติบโตเร็ว มีคุณภาพ แข็งแรง ทนแล้ง ต้านทานต่อโรคและแมลงได้ดี เป็นธาตุอาหารที่จำเป็นต่อกลไกการสะสมน้ำตาลของอ้อย ทำให้อ้อยหวาน ดังนั้น หากอ้อยขาดธาตุนี้ ลำต้นจะอ่อนแอ ล้มง่าย ไม่ทนแล้ง ผลผลิตต่ำ อ้อยมีคุณภาพต่ำ ลำอ้อยมีไส้กลวงไม่ค่อยมีน้ำตาลสะสมในลำอ้อย ใบแก่ มีสีน้ำตาลไหม้ตามขอบใบ ใบม้วนจากปลายใบหรือขอบใบ
แน่นอนว่าธาตุอาหารหลักที่อ้อยต้องการทั้ง 3 ธาตุนี้ หาได้จากปุ๋ย ซึ่งชาวไร่สามารถวางแผนการใส่ปุ๋ยให้แก่อ้อยตามช่วงวัยที่อ้อยต้องการ ทั้งนี้ ต้องคำถึงระยะเวลาและปริมาณที่เหมาะสม ในสัดส่วนที่เท่ากัน เพื่อให้อ้อยได้รับประโยชน์จากปุ๋ยที่เสริมธาตุ N P และ K ได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณที่มา :