- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- พฤ., 9 ส.ค. 61
เมื่อใกล้เข้าสู่ฤดูกาลเปิดหีบอ้อย มิตรชาวไร่หลายท่านอาจกำลังลังเลใจ ว่าจะเลือกตัดอ้อยแบบไหนดี คำตอบอยู่ตรงนี้อย่างไม่ต้องสงสัย นั่นก็คือ การตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดินอย่างไรล่ะคะ...แบบนี้เขาว่า มีแต่ได้กับได้
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าใบอ้อยนั้นมีประโยชน์เหลือล้น หากเราตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดิน สิ่งที่ได้อย่างแรกเลยก็คือ ได้ปุ๋ยอินทรีย์กลับคืนสู่แปลงอ้อย ใบอ้อยที่ถูกทิ้งคลุมดินจะช่วยรักษาหน้าดินและจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์เอาไว้ เมื่อใบอ้อยย่อยสลายก็กลายเป็นธาตุอาหารบำรุงดิน ช่วยเพิ่มการเจริญเติบโตของอ้อยต่อไป...แบบนี้ลดภาระการฟื้นฟูดิน
อย่างที่สอง ช่วยลดการเกิดวัชพืช เมื่อไว้ใบคลุมดิน ปริมาณวัชพืชจะลดลง จึงเป็นการลดปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชลงได้โดยปริยาย...แบบนี้ประหยัดค่าสารกำจัดวัชพืช และได้สุขภาพที่ดี
อย่างที่สาม ลดปัญหาเรื่องโรคแมลงที่จะเกิดขึ้นในแปลงอ้อย เมื่อมีใบอ้อยคลุมดินมาก ๆ จะลดปัญหาการระบาดของไส้เดือนฝอยที่เป็นศัตรูทำลายรากอ้อย หรือการไม่เผาใบจะช่วยให้ศัตรูธรรมชาติ เช่น แตนเบียน แมลงหางหนีบ หรือแมงมุม ไม่ถูกทำลาย เมื่อเรามีหนอนในอ้อย ศัตรูธรรมชาติเหล่านี้จะไปช่วยกำจัดหนอน...แบบนี้ช่วยลดค่าสารศัตรูของอ้อยได้กำจัดแมลง
นอกจากจะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว การตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดิน ยังช่วยให้มีรายได้ต่อไร่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งตัวเลขของรายได้ที่เพิ่มขึ้นมาถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว หากคิดเป็นจำนวนบาทต่อไร่ ก็จะได้ตัวเลขดังต่อไปนี้
+ 700 บาท จากการขายใบอ้อยให้โรงไฟฟ้า (คำนวณจากราคาใบอ้อยตันละ 1,000 บาท เก็บใบอ้อยขั้นต่ำ 0.7 ตัน/ไร่)
+ 400 บาท จากค่าความหวาน จากการตัดอ้อยสด ไม่เผาใบอ้อย ถ้าค่า C.C.S. หรือคุณภาพความหวาน มากกว่า 12% เงินที่ได้รับเพิ่มไม่น้อยกว่า 40 บาท/ตัน
+ 200 บาท ค่าอ้อยสดเข้าโรงงาน (ตันละ 20 บาท)
+ 200 บาท ค่าอ้อยสะอาด / อ้อยยอดสั้น (ตันละ 20 บาท)
+ 400 บาท จากการไว้ใบคลุมดิน คิดเป็นมูลค่าของธาตุอาหาร N-P-K ที่กลับคืนสู่ดิน (มูลค่าดังกล่าวไม่ได้รับเป็นเงินสด)
หากคิดเป็นมูลค่าเงินสดแล้ว การตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดิน จะได้รายได้เพิ่มขึ้นอีก 1,500 บาท/ไร่ และยังได้มูลค่าของธาตุอาหาร (ที่ไม่ได้รับเป็นเงินสด) 400 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,900 บาท/ไร่ เลยทีเดียว
เห็นแล้วใช่ไหมคะว่า ตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดิน มีแต่ได้กับได้ จริงๆ
หมายเหตุ: อัตราการคำนวณจากผลผลิตเฉลี่ย 10 ตันต่อไร่
ข้อมูล : มิตรชาวไร่ ปี 6 ฉบับ 4 เดือน กันยายน-ตุลาคม 2562 AD หน้า 32
http://www.mitrpholmodernfarm.com/news/
ภาพประกอบ : https://www.google.com/
https://www.flickr.com/photos/shrenik/5788610953/in/photostream/
https://kasettumkin.com/agriculture-news/article_24904