หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ นี่ก็ใกล้เข้าสู่ช่วงเปิดหีบอ้อยฤดูกาลผลิต 2562/63 ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย หรือ สอน. ประกาศดีเดย์วันที่ 1 ธันวาคม 2562 มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่าพี่น้องมิตรชาวไร่คงเตรียมพร้อมทั้งแรงงานและเครื่องจักรไว้พร้อมรับการหีบอ้อยเข้าโรงงานได้อย่างมืออาชีพอยู่แล้วนะคะ

ในส่วนของรัฐบาลก็ได้เตรียมพร้อมมาตรการรองรับการเปิดหีบฤดูกาลนี้อย่างเต็มรูปแบบ ที่น่าสนใจคือ มาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ตามมติคณะรัฐมนตรีที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้เสนอไป ซึ่งมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ประกอบด้วย

  1. มาตรการทางกฎหมาย โดยออกระเบียบให้ฤดูการผลิตปี 2562/2563 กำหนดให้โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 30 ต่อวัน สำหรับในฤดูการผลิต ปี 2563/2564 โรงงานน้ำตาลจะรับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต่อวัน และในฤดูการผลิตปี 2564/2565 จะลดปริมาณ อ้อยไฟไหม้เข้าหีบเพียงร้อยละ 0-5 ต่อวัน ซึ่งจะทำให้อ้อยไฟไหม้หมดไปภายใน 3 ปี
  2. มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร ซึ่งจะขยาย โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปี 2562 - 2564 รวมทั้งจะนำเสนอมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตรถตัดอ้อยไทย ด้วยการเพิ่มศักยภาพการผลิตและจำหน่ายให้เพียงพอกับความ ต้องการและส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน โดยการใช้รถตัดอ้อยและเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ นำไปจดทะเบียนเครื่องจักรตามกฎหมายกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำไปเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันกับแหล่งเงินกู้ได้อีกด้วย
  3. มาตรการขอความร่วมมือด้านการบริหารจัดการเพื่อเป็นต้นแบบการเก็บเกี่ยวและการขนส่งอ้อยให้โรงงาน โดยความร่วมมือจากโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยในฤดูกาลผลิต ปี 2562/2563 เพื่อกำหนดพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย เป็นจังหวัดต้นแบบปลอดการเผาอ้อย ตัดอ้อยสดร้อยละ 100 ในแต่ละภาค รวม 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์ การจัดการพื้นที่ลดการเผาอ้อยรอบชุมชนในรัศมี 5 กิโลเมตร และรอบโรงงานน้ำตาลในรัศมี 10 กิโลเมตร และการบูรณาการความ ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดคิวรับอ้อยสดและอ้อยไฟไหม้

ซึ่งมาตรการข้อที่ 3 นี้ เป็นประเด็นที่น่าจับตามอง สำหรับการสร้างจังหวัดต้นแบบนำร่องพื้นที่ปลอดการเผาอ้อย ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดเลย และจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งต้องทำให้เกษตรกรตัดอ้อยสดร้อยเปอร์เซ็นต์รวมในแต่ละภาค แน่นอนว่าเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่ดูเป็นไปได้ยาก แต่ก็เป็นไปได้ หากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ โรงงาน และตัวแปรสำคัญคือเกษตรกร ต่างร่วมมือร่วมใจกัน พุ่งสู่เป้าเหมายเดียวกันคือ ตัดอ้อยสด ลดการเผา ภาครัฐใน 5 จังหวัดนี้ต้องจริงจัง โรงงานน้ำตาลที่รับอ้อยจากเกษตรกรใน 5 จังหวัดนี้ต้องเด็ดขาดไม่รับอ้อยเผา รวมไปถึงพี่น้องชาวไร่อ้อยในพื้นที่นำร่องนี้ต้องหนักแน่น อดทน และกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ส่วนตนที่จะได้รับเงินจากราคาอ้อยที่มีค่าความหวานมาตรฐาน ไม่โดนหักค่าไฟไหม้ ประโยชน์ส่วนรวมคือ ไม่สร้างมลภาวะฝุ่นละอองทำลายสุขภาพของคนในสังคม หากทุกคนให้ความร่วมมือกัน เชื่อว่า 5 จังหวัดนี้จะเป็นพื้นที่นำร่องที่จะเป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจที่ดีให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยพื้นที่อื่น ๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการตัดอ้อยสดเข้าโรงงานได้เป็นอย่างดี

เริ่มหีบหน้า-003.jpg

มิตรชาวไร่ท่านใดอยู่ใน 5 จังหวัดนี้บ้าง มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอเป็นกำลังใจให้นะคะ ส่วนพี่น้องที่อยู่จังหวัดอื่น เรามาเริ่มเปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ 5 จังหวัดนำร่องนี้ดีไหมคะ เริ่มตอนนี้ดีกว่าไม่คิดจะเริ่มเลย เพื่ออนาคตอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทยก้าวสู่สากลอย่างมั่นคงและมีคุณภาพ

ที่มาข้อมูล

http://www.sugarzone.in.th/Pages%20from%20cab110662.pdf (เอกสารจาก สำนักบริหารอ้อยและน้ำตาลทราย)

ข่าวปักหมุด