หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้ติดตามข่าวจากศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบสถานการณ์การระบาดของศัตรูอ้อยชนิดหนึ่งที่กำลังเกิดขึ้นในไร่อ้อยของพี่น้องชาวราชบุรี นั่นคือ “แมลงนูนหลวง” ซึ่งแมลงศัตรูอ้อยชนิดนี้มีอานุภาพทำลายรุนแรงขนาดไหนนั้น ไปทำความรู้จักกับเขาเลยค่ะ

แมลงนูนหลวง เป็นด้วงปีกแข็งที่มีขนาดตัวโต และมีสีต่าง ๆ กัน ตั้งแต่สีขาว สีน้ำตาลอ่อน และสีน้ำตาลแดง โดยปกติตัวผู้มีสีเข้มกว่าตัวเมีย และมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียเล็กน้อย ลำตัวยาวประมาณ 3.5-4 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร บริเวณปลายปีกตรงส่วนที่เริ่มลาดลงมีจุดสีขาวอยู่ข้างละ 1 จุด ตัวเมียจะวางไข่ในดินหลังจากผสมพันธุ์แล้ว ไข่มีลักษณะเป็นฟองเดี่ยว ๆ ตัวเมียตัวหนึ่งวางไข่ได้ประมาณ 12-16 ฟอง ระยะไข่ 15-20 วัน เมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนแล้วจะอาศัยอยู่ในดินกินรากอ้อยหรือหัวมันสำปะหลัง ตัวหนอนรูปร่างโค้งงอ ปลายท้องมีลักษณะเป็นถุง หัวสีน้ำตาลแดง มีฟันกัดที่แข็งแรงมาก จะกัดกินรากอ้อยหรือหัวมันสำปะหลังได้มากขึ้น ๆ ตามขนาดตัวหนอนที่โตขึ้น แมลงนูนหลวงมีระยะหนอนนาน 8-9 เดือน จึงโตเต็มที่ และจะสร้างโพรงดินเพื่อเข้าดักแด้ ระยะดักแด้นานประมาณ 2 เดือน จึงจะออกมาเป็นตัวเต็มวัย อายุตัวเต็มวัย 30-40 วัน มีเพียง 1 ชั่วอายุขัยต่อปีเท่านั้น

แมลงนูนหลวงจะออกเป็นตัวเต็มวัยปีละครั้งในช่วงต้นฤดูฝน พืชอาหารอันโอชะของเจ้าแมลงตัวนี้คือ อ้อย มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส มันแกว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และตะไคร้

ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนแมลงนูนหลวง จะปรากฏเป็นหย่อม ๆ ไม่แพร่กระจายไปทั้งไร่ พบการทำลายน้อยในพื้นที่ลุ่มที่มีน้้าขัง และพบการทำลายมากในสภาพดินทรายปลูกในที่ดอน กออ้อยที่ถูกหนอนของแมลงนูนหลวงเข้าทำลายเพียงหนึ่งตัวต่อกอ จะทำให้อ้อยตายไปทั้งกอได้ และทำให้ผลผลิตของอ้อยลดลงจนเก็บผลผลิตไม่ได้

หนอนของแมลงนูนหลวงจะกัดกินรากอ้อยเป็นอาหาร อาการเริ่มแรกของอ้อยที่ถูกทำลาย คล้ายกับอ้อยขาดน้ำ เนื่องจากความแห้งแล้ง คือ ใบอ้อยมีสีเหลือง ต่อมาจะแห้งตายมากผิดปกติ ในที่สุดอ้อยจะแห้งตายไปทั้งกอ กออ้อยที่ถูกหนอนเข้าทำลายสามารถถอนทั้งกอออก จากพื้นดินได้ง่าย เนื่องจากรากอ้อยถูกทำลายหมดแล้ว หากปีใดแห้งแล้งติดต่อกัน การระบาดจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

มิตรชาวไร่ควรมีวิธีการป้องกันและกำจัด ศัตรูพืชอย่างแมลงนูนหลวง ดังนี้

  1. สำรวจแปลงอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
  2. ไถพรวนดิน เพื่อทำลายหนอนแมลงนูนหลวงและดักแด้ช่วงก่อนปลูกอ้อย รวมถึงจับแมลงนูนหลวง (ตัวเต็มวัย) ก่อนการวางไข่ในช่วงเย็นเวลา 18.30-19.00 น. บริเวณต้นไม้ใหญ่ซึ่ง แมลงจะจับเป็นคู่เกาะเพื่อผสมพันธุ์หรือ ในช่วงเช้าโดยสังเกตขุยดินบริเวณรอบ ๆ โคนต้นหรือห่างจากทรงพุ่มต้น 1-5 เมตร หากพบให้จับ และจับต่อเนื่องกันประมาณ 15-20 วัน ควรทำต่อเนื่อง 2-3 ปี
  3. ไร่อ้อยที่ถูกแมลงนูนหลวงเข้าทำลายมาก และคาดว่าจะไม่สามารถเก็บเกี่ยวได้ หรือไม่คุ้มค่าควรรีบไถพรวน หลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำลายตัวหนอนที่เข้าดักแด้ในดินลึก
  4. การใช้เชื้อรา Beauveria bassiana ช่วยทำลายหนอนและดักแด้ในดินได้ โดยต้องมีความชื้นในดินสูง หรือใช้ในฤดูฝน เพื่อให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี
  5. หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลง แนะนำ ดังนี้ ฟิโปรนิล 5% เอสซี อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นตามร่องอ้อย
  6. ถ้าพบการระบาด ให้เดินหน้ากำจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กลับมาระบาดอีก
  7. พักดินปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของแมลงนูนหลวง

แม้ตอนนี้การระบาดของแมลงนูนหลวงอาจจะยังไม่เกิดในพื้นที่ของมิตรชาวไร่หลาย ๆ ท่าน แต่หากเราทราบวิธีการป้องกันและกำจัด เชื่อว่าหากวันใดที่แมลงศตรูอ้อยพันธุ์นี้ไปสวัสดีเราในไร่ เชื่อว่ามิตรชาวไร่จะสามารถตั้งรับกับเจ้าตัวนี้ได้แน่นอนค่ะ.

ข้อมูลและภาพ

https://www.opsmoac.go.th/singburi-local_wisdom-files-411091791792
https://www.moac.go.th/warning-files-412991791287

ข่าวปักหมุด