ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่มิตรชาวไร่ตัดอ้อยตอ หีบอ้อยส่งเข้าโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมิตรชาวไร่หลายรายเริ่มเปลี่ยนมาตัดอ้อยสด ไว้ใบคลุมดินกันมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการทำไร่อ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ที่เน้นการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยทำงานในไร่อ้อย ผสมผสานกับหลักการทำไร่รูปแบบใหม่ที่เน้นการออกแบบแปลงให้รองรับการทำงานของเครื่องจักร โดยเฉพาะรถตัดอ้อย เพื่อช่วยให้มิตรชาวไร่ตัดอ้อยสดได้อย่างสะดวก รวดเร็วทันใจ และได้อ้อยที่มีคุณภาพส่งเข้าโรงงาน
อย่างไรก็ดี ยังมีเกษตรกรอีกเป็นจำนวนมากที่เผาอ้อยก่อนตัด แม้จะทราบดีว่ารถตัดอ้อยสามารถทำงานได้เร็วกว่า และข้อดีของการตัดอ้อยสดมีมากกว่า แต่ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ลักษณะพื้นที่ไม่อำนวยให้รถตัดอ้อยเข้าทำงาน ทำให้เกิดความเสียหายระหว่างการเก็บเกี่ยวเพราะไม่ได้ออกแบบแปลงอ้อยรองรับการทำงานของรถตัดตั้งแต่แรก รวมไปถึงการที่เกษตรกรได้รับโควต้าจากโรงงานน้ำตาล ทำให้ต้องรีบเก็บเกี่ยวอ้อยเพื่อส่งโรงงานให้ทันเวลาที่กำหนด ดังนั้น เมื่อหาแรงงานตัดอ้อยสดไม่ได้ ก็จำเป็นต้องเผาไร่อ้อย เพื่อให้ตัดได้ทันตามกำหนด ถึงแม้เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่อความผิดทางกฎหมาย แต่ก็จำเป็นต้องทำ
ซึ่งการเผาอ้อยก่อนตัด ไม่เพียงจะก่อปัญหามลภาวะ ยังทำให้อินทรียวัตถุในดินน้อยลง ดินทึบแน่นขึ้น ดินไม่อุ้มน้ำ ซ้ำการเผายังทำให้ไร่อ้อยไม่มีใบคลุมดิน วัชพืชขึ้นได้ง่าย เพื่อมาแย่งอาหารของอ้อย ทำให้ตออ้อยแคระแกร็น แถมบรรดาแมลงศัตรูอ้อยยังสามารถบินมาวางไข่ เติบใหญ่เป็นหนอน ชอนไชไปทำลายตออ้อยได้ง่ายขึ้น
ข้อเสียที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการส่งอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานคือ ด้านคุณภาพอ้อย จะพบว่าในสภาพอากาศร้อนการเผาอ้อยก่อนตัดทำให้ความหวานของอ้อยลดลงวันละ 2.3% ขณะที่การตัดอ้อยสดความหวานจะลดลงวันละ 1.6% ซึ่งต่างกันถึง 40% เลยทีเดียว โดยพบว่าเมื่อเผาอ้อย ลำอ้อยเมื่อโดนความร้อนสูงลำจะแตก น้ำอ้อยจะเยิ้มซึมออกมา เชื้อโรคจะเข้าไปใช้น้ำตาลในลำอ้อยเป็นอาหาร ทำให้คุณภาพอ้อยลดลง และเชื้อจุลินทรีย์ยังไปสร้างสารเหนียวซึ่งไปขัดขวางกระบวนการผลิตน้ำตาลในโรงงาน ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำน้ำตาลมากยิ่งขึ้น แน่นอนว่าโรงงานจะหักค่าความหวานและหักค่าอ้อยไฟไหม้อีกด้วย นั่นหมายถึงเงินที่ได้รับก็ลดน้อยลง
แม้เกษตรกรหลายรายจะแย้งว่า เขาไม่ได้ยินดีที่จะเผาไร่อ้อย แต่ด้วยความจำเป็นต่าง ๆ บังคับให้ต้องทำ ถึงแม้จะมีการออกกฎหมายบังคับ แต่ไม่มีความเข้มงวด ก็ยังเลือกเผากันอยู่ดี
แต่เมื่อโรงงานน้ำตาลมีข้อกำหนดเรื่องรับอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานแบบจริงจัง และคืนกำไรให้แก่เกษตรกรด้วยข้อเสนอหลายอย่างที่ล้วนแล้วแต่เป็นรายได้เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นเงินเพิ่มจากค่าความหวานที่ไม่ถูกไฟไหม้ ค่าใบอ้อยสดที่ส่งเข้ามาขายให้โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล หรือประโยชน์โดยตรงจากการตัดอ้อยสดไว้ใบคลุมดินที่จะคืนความอุดมสมบูรณ์ให้แก่พื้นที่เพื่อปลูกอ้อยรุ่นต่อไป เหตุผลเหล่านี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มเชื่อว่า มีน้ำหนักเพียงพอที่จะช่วยให้ท่านตัดสินใจตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานได้ไม่ยาก.
หากมิตรชาวไร่ท่านใดสนใจการปลูกอ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์มสามารถติดต่อสอบถามปรึกษาวิธีการปลูกได้ที่สำนักงานของมิตรผลใกล้บ้านท่านนะคะ
ที่มาข้อมูลและภาพ
https://www.thairath.co.th/content/540029
https://www.komchadluek.net/news/agricultural/237080
https://www.kubotasolutions.com/knowledge/sugar_cane/detail/376