หน้าแรก

ในภาวะหน้าแล้งอย่างนี้ มิตรชาวไร่หลายท่านที่ปลูกอ้อยไว้ตอ คงกำลังท้อใจคิดไม่ตกว่าจะดูแลบำรุงตออ้อยอย่างไรถึงจะทำให้งอกงาม เติบโต และได้ผลผลิตสมดังใจ เพราะอ้อยตอนั้นเปรียบเสมือนกำไรที่มีอยู่ในมืออยู่แล้ว หากบำรุงถูกวิธีกำไรนี้ก็จะได้มาอย่างงาม ๆ เลยนะคะ

กิจกรรมบำรุงตออ้อยควรจะต้องทำโดยเร็วภายหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการบำรุงตอประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ 4 ขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

  1. ไว้ใบคลุมดินปริมาณใบอ้อย 25 ตัน/ไร่ แหล่งอินทรียวัตถุขนาดใหญ่ช่วยปรับปรุงสุขภาพดิน รักษาความชื้น และช่วยให้น้ำฝนหรือน้ำชลประทานไหลซึมลงดินได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยลดปัญหาวัชพืช คลุมดินไม่ให้วัชพืชงอก สิ่งมีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่ออ้อยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้
  2. ราดน้ำวีเนส ช่วยให้ใบอ้อยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวย่อยสลายได้เร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งในน้ำวีเนส ยังมีธาตุอาหารที่อ้อยต้องการเช่น ไนโตรเจน โพแทสเซียม แคลเซียม แมกนีเซียม และโซเดียม
  3. ใส่ปุ๋ยหลังตัด ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน เพื่อง่ายต่อการวางแผนการเลือกสูตรปุ๋ย และปริมาณที่ให้ถูกต้องตามความต้องการต่อการเจริญเติบโตของอ้อย การใส่ปุ๋ยอ้อยตอ ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนมากกว่าอ้อยปลูก เพิ่มไนโตรเจนอีก 25 เปอร์เซ็นต์ และแบ่งการใส่ปุ๋ยออกเป็น 2-3 ช่วง เช่นเดียวกับอ้อยปลูกใหม่ เน้นปุ๋ยสูตร 21-7-18 หลังตัดภายใน 7-10 วัน โดยวิธีการฝังกลบ อัตรา 50 กิโลกรัม/ไร่ และให้น้ำตามทันที

    นอกจากใส่ปุ๋ยหลังตัดทันที ควรใส่ปุ๋ย แต่งหน้าอีก 1-2 ครั้ง แต่งหน้าครั้งที่ 1 เมื่อเริ่มเข้าฤดูฝน การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าเน้นไนโตรเจน และโพแทสเซียม เช่น สูตร 21-7-18, 25-7-7 และ 15-5-20

  4. คุณสมบัติทางกายภาพของดินแตกต่างกัน ดินทรายมีความสามารถซับน้ำ และความชื้นน้อยกว่าดินเหนียว สำหรับอ้อยดินทราย แนะนำให้ใช้น้ำหยดทันทีหลังตัดอ้อยเสร็จ เพื่อกระตุ้นการงอก โดยให้น้ำ 6-8 ชั่วโมง

    นอกจาก 4 ขั้นตอนการบำรุงตอที่จะช่วยให้ตออ้อยเจริญเติบโตงอกงามได้ดีแล้ว เรายังต้องอาศัยเทคนิคที่ใช่ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้อ้อยตอ ให้ได้เกิน 10 ตันต่อไร่ นั่นก็คือ เทคนิค 3 ใช่ ตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มนั่นเองค่ะ

ใช่ที่ 1 : เวลาที่ใช่

ทุกกิจกรรมการดูแลอ้อยตอจะมีช่วงเวลาที่เหมาะสมแต่ละช่วง ซึ่งเราเองก็ต้องทำให้อยู่ในห้วงเวลานั้น ๆ อย่างการใส่ปุ๋ยให้น้ำนี่จะรอไม่ได้ ตัดอ้อยเสร็จแล้วภายใน 7-15 วัน ควรใส่ปุ๋ยให้น้ำ เพราะจะส่งผลต่อผลผลิตอ้อยตอของเราแน่นอน ดังนั้นข้อนี้จึงควรรู้ช่วงเวลาที่เหมาะสม และทำงานให้ทันกับเวลา

ใช่ที่ 2 : วิธีที่ใช่

นอกจากเราจะให้น้ำได้ทันในช่วงเวลาที่อ้อยตอต้องการแล้ว เราก็ต้องเลือกวิธีให้น้ำที่เหมาะสมกับสถานการณ์กันด้วย จะน้ำราด น้ำพุ่ง หรือน้ำหยด ต้องเลือกวิธีที่เหมาะสม ตามหลักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มแล้ว วิธีใช้น้ำหยดจะช่วยให้อ้อยได้น้ำแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ค่อย ๆ ซึมลงผิวดินในอัตราที่พอเหมาะกับที่อ้อยตอต้องการ แต่หากเป็นน้ำราด ในภาวะหน้าแล้งอากาศแห้ง ๆ แบบนี้ น้ำก็มีแต่จะระเหยแห้งไปหมด ตออ้อยจะได้รับน้ำไม่เพียงพอ อีกอย่างหนึ่งคือ น้ำหยดช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากกว่าน้ำราดถึง 5 เท่า พูดง่าย ๆ น้ำในปริมาณเท่ากัน ถ้าให้น้ำราดก็ให้อ้อยได้แค่ไร่เดียว แต่ถ้าเป็นน้ำหยดให้ได้ถึง 5 ไร่ นั่นเอง

ใช่ที่ 3 : ปริมาณที่ใช่

เมื่อเรารู้แล้วว่าช่วงเวลาไหนต้องทำงานอะไรและใช้วิธีไหนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องทำ คือ ต้องกำหนดปริมาณที่เหมาะสมด้วย อย่างเรื่องการให้ปุ๋ย ต้องรู้ว่าช่วงไหนที่อ้อยตอต้องการปุ๋ยสูตรใดมาช่วยบำรุง และจะใช้ปริมาณเท่าไหร่ กี่กระสอบต่อไร่ ต้องใส่ตามสัดส่วนที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำ เพราะให้มากไปก็สูญเปล่าคือเสียเงินเปล่า ให้น้อยไปก็ไม่พอ ดังนั้นเรื่องปริมาณที่พอดีจึงสำคัญเพราะส่งผลต่อผลผลิตเราโดยตรง

ไม่ว่าจะแล้งแค่ไหน หากดูแลบำรุงตออ้อยอย่างถูกวิธี และอาศัยเทคนิคดี ๆ เป็นตัวช่วย อย่างเทคนิค 3 ใช่ ตามแบบฉบับมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม รับรองว่ากำไรงาม ๆ ก็ไม่หนีไปไหนอย่างแน่นอน

ข้อมูลจาก :

http://www.mitrpholmodernfarm.com/news/2018/06
http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/

ข่าวปักหมุด