หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ แม้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยแล้ว ยังพบว่าหลายพื้นที่ฝนทิ้งช่วง พืชเกษตรเสียหายจากภาวะฝนทิ้งช่วงจำนวนมาก ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ ดับเบิลยูเอ็มโอ (WMO) องค์กรหนึ่งของสหประชาชาติ เปิดเผยว่า WMO ได้ประมาณการว่า มีโอกาส ร้อยละ 60 ที่จะเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ และมีโอกาสร้อยละ 80 ที่จะเกิดเอลนีโญภายในสิ้นเดือนกันยายน

เอลนีโญ คืออะไร เอลนีโญ เป็นรูปแบบสภาพภูมิอากาศที่มักจะเกี่ยวข้องกับการที่อุณหภูมิอากาศปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงความแห้งแล้งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่บางส่วนของโลก และเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ส่วนอื่นของโลก โดยเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2018-2019 และนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นมา หรือ 3 ปี โลกเผชิญกับสภาวะอากาศที่เป็นผลมาจากปรากฏการณ์ ‘ลานีญา’ เป็นระยะเวลายาวนาน และสิ้นสุดไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ภูมิอากาศมีสภาพเป็นกลาง

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และการเกิดเอลนีโญ จะทำให้อุณหภูมิโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกและอาจจะสูงทำลายสถิติก็เป็นไปได้

นายเพทเทรี ทาลัส เลขาธิการ WMO ระบุว่า โลกควรเตรียมพร้อมสำหรับการพัฒนาของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับความร้อน ความแห้งแล้ง หรือปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นในส่วนต่างๆ ของโลก อาจนำมาซึ่งการทุเลาจากภัยแล้งในฮอร์น ออฟ แอฟริกา” (Horn of Africa) และผลกระทบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับลานีญา แต่ก็อาจกระตุ้นให้เกิดสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็น ในการริเริ่มคำเตือนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้คนปลอดภัย

003.jpg

สำหรับประเทศไทยเอง กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของประเทศไทย ระบุว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้มาช้ากว่าปกติเล็กน้อย และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม 2566 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 5 และน้อยกว่าปีที่แล้ว (ปีที่แล้วในช่วงฤดูฝนปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 14 และปริมาณฝนรวมทั้งปีมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ร้อยละ 24)

โดยทั้งในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน ตั้งแต่เริ่มต้นเดือนกรกฎาคม และช่วงครึ่งหลังฤดูฝน เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5

แต่จะมีฝนทิ้งช่วง ในช่วงเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม ส่งผลให้ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย ทำให้พื้นที่แล้งซ้ำซาก บริเวณนอกเขตชลประทานอาจจะเกิดการขาดแคลนน้ำใช้สำหรับทำการเกษตรได้ในหลายพื้นที่

ในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝนนั้น จะเป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสที่จะเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ซึ่งจะทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้

โดยในบางช่วงนั้น จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันหลายวัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคม – กันยายน ส่วนพายุหมุนเขตร้อนที่จะเคลื่อนผ่านประเทศไทยนั้น จะมีลักษณะเป็นพายุลมแรง มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่

ด้านการรับมือ เอลนีโญ ในประเทศไทย นายประพิศ จันทร์มา อธิบดี กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่า ปรากฏการณ์เอลนีโญ ในช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายนนี้ จะส่งผลให้ทั้งประเทศไทยเกิดฝนตกน้อยกว่าปกติ กรมชลประทาน จึงได้เตรียมแผนรับมือตั้งแต่ช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้เป็นต้นไป เพื่อลดผลกระทบต่อสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

โดยได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ เฝ้าระวัง ติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างรอบคอบ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ ที่สำคัญให้เร่งเก็บกักน้ำให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำที่กรมชลประทานได้ปรับปฏิทินเพาะปลูกให้เกษตรกรได้เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากจะมาถึง

ปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกแล้ว และจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันก่อนน้ำหลากในช่วงกลางเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากอุทกภัย

นอกจากนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ที่กรมชลประทานกำหนด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด

อย่างไรก็ดี ขอให้มิตรชาวไร่เตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดการณ์จะเกิดขึ้น ทั้งสภาวะฝนทิ้งช่วงก็ดี หรือสภาวะเอลนีโญก็ดี เพราะหากเรามีแผนสำรองสำหรับสภาพอากาศต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น อ้อยของเราจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรืออาจไม่กระทบเลย หากมีการวางแผนและเตรียมการที่ดีนั่นเองค่ะ

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

https://workpointtoday.com/

https://thaipublica.org/

https://www.thairath.co.th/

ข่าวปักหมุด