หน้าแรก

ยุคอินเตอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT : ไอโอที) อย่างนี้ เชื่อว่ามิตรชาวไร่คงคุ้นเคยดีกับคำว่า Wi-Fi (ไวฟาย) การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ทุกที่ที่มีสัญญาณ ด้วยคลื่นวิทยุ และคลื่นอินฟาเรด

แล้วถ้าไม่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ไม่สามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ แต่เราจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตในการทำงาน เราจะเชื่อมต่อสัญญาณได้อย่างไร?

คำถามนี้จึงเป็นที่มาของ เทคโนโลยีไร้สายผ่านแสง หรือ Li-Fi (ลายฟาย) มาจากคำว่า Light Fidelity คือ เทคโนโลยีไร้สายที่ทำงานผ่านการส่งสัญญาณด้วยแสง ซึ่งใช้แค่หลอดไฟ LED ในการส่งสัญญาณเท่านั้น หมายความว่า ไม่ว่าจะไปที่ใด ขอแค่มีความสว่างจากหลอดไฟก็สามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตได้ทันที…..โอ้ว โฮ! อะไรจะไฮเทคขนาดนี้พ่อจ๋าแม่จ๋า

LiFi-003.jpg

มาดูกันค่ะว่า เทคโนโลยีไร้สายผ่านแสง หรือ Li-Fi มีหลักการทำงานอย่างไรบ้าง

Li-Fi ทำงานผ่านการส่งสัญญาณด้วยแสง โดยรับส่งข้อมูลผ่านการเปลี่ยนแปลงค่าความสว่าง หรือ Amplitude ซึ่งเป็นรับส่งผ่านข้อมูลทางหลอดไฟ LED โดยในระบบจะมีชุดอุปกรณ์ตรวจจับแสง (Photodetector) ร่วมกับส่วนประมวลผล ซึ่งทำหน้าที่แปลงค่าแสงนั้น ๆ ให้เป็นข้อมูล

จุดเด่นของ Li-Fi คือไม่ต้องใช้อุปกรณ์ที่ซับซ้อน เพียงหลอดไฟ LED ก็สามารถส่งสัญญาณไร้สายด้วยความเร็วสูงถึง 224 Gb/s โดยจากการทดลองใช้งานจริง พบว่าสามารถรับส่งข้อมูลขนาด 1 GB ได้ภายในเพียงแค่วินาทีเดียวเท่านั้น ซึ่งเร็วกว่าการใช้งาน Wi-Fi ในปัจจุบันถึง 100 เท่า

แต่ด้วยข้อจำกัดด้านความถี่ที่ Li-Fi เป็นสัญญาณแสง จึงไม่สามารถทะลุผ่านกำแพงห้องไปได้ ดังนั้นถ้าจะให้การเชื่อมต่อดำเนินไปอย่างไม่มีสะดุด จึงจำเป็นต้องมีหลอดไฟ LED ติดตั้งทุกพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน และต้องเปิดให้สว่างอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งในเวลากลางวัน นอกจากนั้นการใช้งานในพื้นที่โล่งแจ้ง ยังขาดความเสถียร

LiFi-004.jpg

ปัจจุบันมีการนำ Li-Fi ไปใช้งานจริง ในพื้นที่บนท้องฟ้า ซึ่งเป็นพื้นที่ห้ามใช้ Wi-Fi โดยบริษัท AirBus พัฒนา Li-Fi เพื่อใช้ในห้องควบคุมต่าง ๆ ในเครื่องบิน ทั้งยังเตรียมการติดตั้งระบบดังกล่าวบนเครื่องบินทุกลำ โดยผู้โดยสารสามารถเสียบอุปกรณ์พิเศษเข้ากับอุปกรณ์ของตน เพื่อใช้บริการ Internet และล่าสุด ระบบปฏิบัติการ IOS ของ Apple ก็มี Function ที่รองรับระบบ Li-Fi บนเครื่องบินแล้วเช่นกัน

การประยุกต์ใช้ Li-Fi ทางด้านการเกษตร

ปัจจุบัน มิตรชาวไร่จะเห็นการเพาะปลูกในโรงเรือนมากขึ้น เนื่องจากสามารถควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมที่ทำให้พืชเจริญเติบโตได้ดี โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สุดของการเจริญเติบโตของพืชก็คือ แสง ซึ่งจะเห็นว่า ทางเลือกหนึ่งของการทดแทนแสงอาทิตย์ คือ การนำหลอด LED มาใช้ในโรงเรือน ดังนั้น การประยุกต์ใช้ Li-Fi ในโรงเรือน จะช่วยให้สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และควบคุมปัจจัยสภาพแวดล้อมในโรงเรือนได้อย่างอัตโนมัติ เช่น การรับข้อมูลจากเซนเซอร์ความชื้น และส่งข้อมูลกลับไปให้เซนเซอร์เพื่อรดน้ำตามความต้องการของพืช โดยเซนเซอร์ทุกตัวจะส่งข้อมูลผ่าน Li-Fi ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการ และควบคุมปัจจัยการเจริญเติบโตของพืชอย่างอัตโนมัติ และประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น จากการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าของหลอดไฟ LED ด้วยเทคโนโลยี Li-Fi

เทคโนโลยีต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกพัฒนาตลอดเวลาไม่มีที่สิ้นสุดจริง ๆ ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้มนุษย์ หน้าที่ของเราจึงต้องเรียนรู้และพัฒนากับเทคโนโลยีต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจากรุ่นสู่รุ่นเช่นเดียวกัน.

ขอบคุณที่มา:

https://www.bangkokbankinnohub.com/th/li-fi/
https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_270641<
https://www.techtalkthai.com/li-fi-prototype-is-ready/
https://www.bangkokbankinnohub.com/th/li-fi/
https://www.techtalkthai.com/li-fi-is-100-times-faster-than-wi-fi/
https://www.scimath.org/article-physics/item/4836-li-fi
http://itnews4u.com/LIFI-OWC-technology.html
https://www.design365days.com/Site/

เรียบเรียงโดย ฝ่ายวางแผนกลยุทธ์กลุ่มธุรกิจอ้อย

ข่าวปักหมุด