- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- พ., 28 ก.ค. 64
หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตกันแล้ว มิตรชาวไร่ท่านใดที่ต้องบำรุงตอก็ต้องดูแลให้ดี และสำหรับท่านใดที่ถึงเวลารื้อตอกันแล้วช่วงนี้ก็เหมาะเลย ที่เราจะมาพักดินและปรับปรุงดินซักครั้ง มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มก็แนะนำให้พักดินปลูกพืชบำรุงดิน เพราะหากมิตรชาวไร่ปลูกอ้อยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการพักดินจะทำให้เกิดการสะสมของโรคและแมลงศัตรูพืช และยังทำให้ดินที่ใช้ปลูกอ้อยประสบปัญหาขาดแคลนอินทรียวัตถุ ทำให้ผลผลิตอ้อยที่ได้ต่ำลง ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมการไว้สำหรับการปลูกอ้อยในครั้งต่อไป มิตรชาวไร่ควรให้ความสำคัญในการบำรุงดินโดยการเติมอินทรียวัตถุลงไปในปริมาณที่มากเพียงพอ เพื่อให้ดินเกิดความสมบูรณ์ขึ้น
วิธีการปรับปรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การใช้ปุ๋ยพืชสด การใส่กากตะกอนหม้อกรองจากโรงงานน้ำตาล การเตรียมดินโดยการไถพรวนคลุกเศษซากใบอ้อยลงไปในดิน การใส่ปุ๋ยหมัก การใส่ปุ๋ยคอก เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวล้วนมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุลงไปในดินทั้งสิ้น มิตรชาวไร่สามารถเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งหรือใช้ร่วมกันหลายวิธีก็ได้ตามความสะดวก โดยวิธีการปรับปรุงดินโดยใช้อินทรียวัตถุที่น่าสนใจให้เลือกใช้มี 3 วิธี ดังนี้
หลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อยแล้วจะพบว่ามีเศษซากใบอ้อยที่เหลือเป็นจำนวนมากมีน้ำหนักประมาณ 1 – 2 ตันต่อไร่ ซึ่งเศษซากใบอ้อยเหล่านี้เป็นวัสดุปรับปรุงดินที่ตกค้างอยู่ในแปลง ไม่ต้องหาซื้อและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนย้าย เพียงแต่เราต้องรักษาไว้ไม่เผาทำลายและมีการสับพรวนเศษใบให้ละเอียดเคล้าให้เข้ากับดินเท่านั้น เราก็สามารถเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้กับดิน ทำให้ดินร่วนซุย มีการถ่ายเทอากาศและระบายน้ำได้ดี เพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้แก่ดิน เป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายและเวลาอีกด้วย
ซึ่งจากการปรับปรุงดินโดยการใช้เศษซากใบอ้อยจะช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดินทั้งไนโตรเจน ประมาณ 4.9 – 9.8 กิโลกรัม/ไร่ ฟอสฟอรัส 2.1 – 4.2 กิโลกรัม/ไร่ และโพแทสเซียม 5.8 – 11.5 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้มิตรชาวไร่ประหยัดปริมาณปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่จะใส่ลงไปได้พอสมควร
วิธีการในการเตรียมก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก เพียงแต่เราต้องตัดอ้อยสด (ไม่เผาอ้อยก่อนตัด) เมื่อตัดอ้อยแล้วไม่เผาเศษซากใบอ้อย ให้ไถรื้ออ้อยเก่าด้วยไถรื้อตอสับใบหรือชุดพรวน 20 – 22 จาน เพื่อให้เศษซากใบอ้อยกลบลงไปในดินจนหมด หลังจากนั้นพักดินไว้ประมาณ 1 - 2 เดือน เพื่อรอให้จุลินทรีย์ทำการย่อยสลายเศษซากใบอ้อยให้หมดเสียก่อนแล้วจึงทำการไถเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อยในครั้งใหม่ต่อไปได้ตามปกติ แนะนำให้มีการทำทุกครั้งเมื่อมีการไถรื้อตอเพื่อปลูกอ้อย ฉะนั้นจะมีการไถพรวนคลุกเศษซากใบอ้อยทุก ๆ 3 – 4 ปี หากเป็นการพรวนบำรุงตอ ให้พรวนสับทันทีหลังจากตัดอ้อยแล้ว 1 – 7 วัน จะสามารถสับใบอ้อยให้ขาดได้ดี ทำซ้ำจากครั้งแรกประมาณ 1 เดือน หากก่อนการพรวนมีการหว่านปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราต่ำ ๆ ก็จะทำให้การพรวนสับใบมีการย่อยสลายตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งการพรวนบำรุงตอทำได้ทุกครั้งหลังจากตัดอ้อยแล้วบำรุงตอ จะเป็นการเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้ปีละ 1 ครั้ง
ปุ๋ยพืชสด คือ ปุ๋ยอินทรีย์ชนิดหนึ่งที่ได้จากการไถกลบพืชที่ยังสดอยู่ให้คลุกเคล้าลงไปในดิน หรือการปลูกพืชบางชนิดให้เจริญเติบโตถึงระยะเริ่มออกดอกจนกระทั่งดอกบานเต็มที่จึงไถกลบลงไปในดิน โดยพืชที่ปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดส่วนใหญ่เป็นพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วพุ่ม ถั่วเขียว ถั่วพร้า ปอเทือง โสนจีนแดง หรือโสนอาฟรีกัน เป็นต้น ซึ่งการปรับปรุงดินโดยวิธีนี้จะช่วยเพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน ปรับปรุงโครงสร้างดินให้ร่วนซุย เพิ่มปริมาณอาหารให้แก่ดินโดยเฉพาะธาตุไนโตรเจน นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันกำจัดวัชพืชและตัดวัฏจักรของโรคและแมลงศัตรูอ้อยอีกด้วย
วิธีการในการบำรุงดินโดยใช้ปุ๋ยพืชสดกรณีการปลูกต้นฤดูฝนต้องรีบดำเนินการทันที โดยหลังจากตัดอ้อยตอที่ต้องการรื้อปลูกใหม่ให้เสร็จภายในเดือนมกราคม หลังจากนั้นให้รื้อตอทันที แล้วหว่านเมล็ดพืชบำรุงดิน (ควรเลือกพืชที่ทนแล้ง และมีอายุการไถกลบสั้น) เมื่อพืชออกดอกแล้วก็ไถกลบจนเศษซากพืชคลุกเคล้ากันได้ดี พักดิน 15 – 30 วัน จนพืชย่อยสลายหมด ก็ทำการเตรียมดินและปลูกอ้อยต้นฝนต่อไป แต่ถ้าเป็นอ้อยข้ามฤดู เราจะมีเวลามากขึ้นในการพักดิน และเลือกพืชได้หลากหลายมากขึ้น
กากตะกอนหม้อกรองจากโรงงานน้ำตาล หรือ ฟิลเตอร์เค้ก (filter cake) คือ ตะกอนที่เหลือจากการกรองแยกน้ำอ้อยด้วยเครื่องกรองในกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย มีลักษณะเป็นของแข็งสีน้ำตาลปนดำ ตะกอนที่ถูกกรองออกมาใหม่ ๆ จะมีลักษณะเปียกมองคล้ายขี้เป็ด สามารถนำมาใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดินได้ดี เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกไม่ไกลจากโรงงานน้ำตาลมากนัก มีรถบรรทุกใช้บรรทุกขนย้ายกากตะกอนหม้อกรองไปใส่ในแปลงปลูกอ้อยของตนเองได้ โดยการปรับปรุงดินด้วยวิธีนี้เป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้สูงขึ้น ลดความเป็นกรด ช่วยให้ดินร่วนซุย โปร่ง ไม่แน่นทึบ เพิ่มธาตุอาหารและเป็นแหล่งอาหารของจุลินทรีย์ในดินอีกด้วย
วิธีการนี้สามารถกระทำได้ในแปลงที่จะปลูกอ้อยใหม่ เมื่อทำการไถรื้อตออ้อยเก่า หรือการไถเปิดหน้าดินเพื่อจะปลูกอ้อยใหม่ ให้นำกากตะกอนหม้อกรองมาใส่ในอัตรา 18 – 20 ตันต่อไร่ โดยใส่ให้กระจายทั่วแปลงโดยใช้เครื่องหว่านปุ๋ยหมัก หรือถ้าไม่มีก็ให้นำมาเทกองไว้ตามจุดต่าง ๆ จากนั้นใช้รถไถติดใบมีดเกรดหน้าทำการเกลี่ยกากตะกอนให้กระจายทั่วแปลง และไถพรวนคลุกเคล้าลงไปในดิน พักดินไว้ 1 – 2 เดือน เพื่อให้เกิดการย่อยสลายจนหมดแล้วจึงทำการเตรียมดินเพื่อปลูกอ้อยต่อไป
การปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุยังสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใส่ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกที่เป็นมูลสัตว์ ซึ่งล้วนแล้วแต่ความเหมาะสมของพื้นที่ แหล่งที่มาของอินทรียวัตถุว่าหามาง่ายหรือไม่ ราคาสูงไปหรือไม่ และสามารถขนส่งได้สะดวก ไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินไป หากมิตรชาวไร่เห็นความสำคัญและหันมาปรับปรุงดินด้วยอินทรียวัตถุตามวิธีการที่กล่าวมาแล้ว เชื่อได้ว่าดินที่ใช้ปลูกอ้อยจะมีความอุดมสมบูรณ์ดีขึ้น ปลูกอ้อยแล้วได้รับผลผลิตและคุณภาพที่สูงขึ้น ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยให้น้อยลง ทำให้มิตรชาวไร่ประหยัดเงินค่าปุ๋ย ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนที่ดีอีกวิธีหนึ่ง
ขอบคุณที่มา:
http://www.ocsb.go.th/
https://puechkaset.com/
http://www.mitrpholmodernfarm.com/