- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- อ., 13 ก.พ. 61
ไม่ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วกี่เดือนกี่ปี ผลกระทบของการเผาอ้อยยังส่งผลเสียหลายด้าน ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสุขภาพ ต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ที่ได้รับผลกระทบด้านคุณภาพอ้อย รวมไปถึงสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนใกล้เคียงด้านการดำรงชีวิตอีกด้วย
ถึงแม้มลพิษจากการเผาอ้อยจะมากหรือน้อยจะแตกต่างกันไปในแต่ละสถานที่ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปคือปัญหาด้านมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ ประกอบด้วย ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ อนุภาคของแข็งขนาดเล็กและฝุ่นละอองที่สามารถลอยตัวกระจายในอากาศสูงกว่า 2,250 เมตร และลอยไปได้ไกลถึง 16 กิโลเมตร หรือมากกว่า ซึ่งจะกระจายไปในอากาศทำให้สภาพการมองเห็นลดลง ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศโดยทั่วไป และก่อให้เกิดความรำคาญแก่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง
และประเด็นสำคัญที่จะกล่าวถึงคือ ผลกระทบที่เกิดต่อสุขภาพ เนื่องจากการเผาอ้อยเกิดความร้อนสูงมาก ทำให้เกิดการเผาไหม้อย่างรวดเร็ว ฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อจมูกและลำคอ ซึ่งถ้าประสบสภาวะนี้อยู่นาน ๆ จะเป็นผลเสียต่อการหายใจ เพราะเมื่อเกิดการเผาไหม้จะเกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนถ่ายออกซิเจนของเลือดลดลง นอกจากนี้สารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยได้ ซึ่งมีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ เช่น เบนซิน โทลูอีน เมทิลลีนคลอไรด์ และเมทิลคลอโรฟอร์ม จะมีผลกระทบต่อพืชและมนุษย์
ที่สำคัญระหว่างการเผาไหม้สารประกอบซิลิกา (Silica Fiber) ในอ้อย จะถูกปล่อยออกจากลำต้นอ้อย ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปอดได้ ซึ่งสารประกอบซิลิกานี้ เป็นผลึกของแข็งสีขาวที่ไม่ละลายน้้าเกิดจากสารประกอบทางเคมีระหว่างธาตุซิลิกอนกับธาตุ ออกซิเจน
จากการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีของขี้เถ้าชานอ้อยพบว่ามีปริมาณซิลิกาสูงมากกว่า 90% เหมาะแก่การนำมาใช้เป็นแหล่งซิลิกาในการสังเคราะห์วัสดุที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบ เช่น ซิลิกาเจล ซีโอไลต์ และซิลิกอนคาร์ไบด์ เป็นต้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้แตกต่างกันไปตามแต่คุณสมบัติ ซึ่งปัจจุบันซิลิกามีบทบาทสำคัญทั้งในอุตสาหกรรมและการศึกษาวิจัย รวมถึงมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรม หลายแขนง เช่น
อุตสาหกรรมยาง สามารถใช้เป็นสารเสริมแรง เพราะการเติมสารตัวเติมลงไปในยาง จะช่วยปรับปรุงสมบัติเชิงกลต่าง ๆ ของยางให้ดีขึ้น โดยเฉพาะค่าความแข็ง ความทนทานต่อแรงดึง ความทนทานต่อการฉีกขาด และความต้านทานต่อการขัดถู เป็นต้น
อุตสาหกรรมซีเมนต์ ใช้ประโยชน์จากซิลิกาที่มีขนาดอนุภาคระดับนาโนเมตร เพื่อใช้เป็น ส่วนผสมเพิ่มเติมทำให้ได้คอนกรีตคุณภาพสูงหรือคอนกรีตที่ยังไม่แข็งตัวมีความสามารถในการไหลเทดีขึ้น
อุตสาหกรรมยา เป็นสารช่วยเพิ่มแรงตึงผิวและช่วยในการกระจายตัวของยาชนิดที่เป็น ของเหลว
อุตสาหกรรมอาหาร สามารถใช้เป็นตัวดูดจับความชื้นเพื่อการถนอมอาหารและใช้ในการกรองน้ำดื่ม
อุตสาหกรรมสี สามารถใช้เป็นตัวควบคุมการไหลของสี
อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สามารถใช้เป็นตัวช่วยดูดซับน้ำ
การนำชานอ้อยมาใช้เป็นแหล่งซิลิกาในการสังเคราะห์วัสดุที่มีซิลิกาเป็นองค์ประกอบจะช่วย เพิ่มมูลค่าจากชีวมวลที่ได้จากการเกษตรและยังสามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมได้
แน่นอนว่าสารประกอบซิลิกาไฟเบอร์ จะมีประโยชน์มากมายหากนำมาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมตามกระบวนการผลิต แต่เมื่อใดก็ตามที่อ้อยถูกเผาไหม้ สารซิลิกาเหล่านี้จะแปลงสภาพเป็นมลพิษร้ายที่เมื่อสูดเข้าไปภายในปอด และสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปอดได้
แม้ระดับของการป่วยจะแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ อาจจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและปัจจัยสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น ๆ แต่การเผาอ้อยยังมีผลเสียมากกว่าผลดีเหมือนเดิม ฉะนั้นแล้วเรามาร่วมมือร่วมใจกัน หยุดเผาอ้อย แล้วตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานกันดีกว่า เพื่อคุณภาพอ้อยและน้ำตาลไทยให้ได้มาตรฐานทัดเทียมต่างประเทศ
ขอบคุณที่มา:
https://www.kubotasolutions.com/