หน้าแรก

อ้อยต้องการช่วงปลอดวัชพืชอย่างน้อย 3-4 เดือนหลังปลูก ดังนั้น การจัดการวัชพืชในช่วงแรกหลังจากปลูกอ้อยจึงมีความสำคัญต่อการงอก การแตกกอ และการเจริญเติบโตของอ้อย แต่การใช้สารกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก หรือ “ยาคุม” ที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น เฮกซาซิโนน + ไดยูรอน หรือ เพนดิเมทาลิน + อิมาซาพิค (ยาคุมแห้ง) เมื่อใช้ในอัตราแนะนำจะไม่สามารถควบคุมวัชพืชเถาเลื้อยได้ มิหนำซ้ำยังส่งผลให้วัชพืชเถาเลื้อยงอกขึ้นมากลายเป็นปัญหาในช่วง 1-2 เดือนหลังปลูกอ้อยอีกด้วย

วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีเทคนิคการใช้สารกำจัดวัชพืชมาแนะนำมิตรชาวไร่สำหรับการกำจัดวัชพืชให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับอ้อยปลูกใหม่

  • พ่นสารอินดาซิแฟลม อัตรา 50 ซี.ซี.ต่อไร่ + สารซัลเฟนทราโซน 250 ซี.ซี.ต่อไร่ หลังจากปลูกอ้อยและให้น้ำเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้ดินมีความชื้นก่อนพ่นสารคุมวัชพืช
  • ห้ามให้น้ำต่ออ้อย ภายใน 5-7 วัน หลังพ่นสารคุมวัชพืช

สำหรับอ้อยตอ

  • พ่นสารอินดาซิแฟลม อัตรา 50 ซี.ซี.ต่อไร่ + สารซัลเฟนทราโซน 250 ซี.ซี.ต่อไร่ หลังจากตัดอ้อยและให้น้ำ เพื่อให้ดินมีความชื้นก่อนพ่นสารคุมวัชพืช
  • พ่นสารคุมวัชพืชโดยฉีดทับใบอ้อยได้
  • ห้ามพ่นสารคุมวัชพืชกรอกยอดอ้อย
  • ห้ามให้น้ำ ภายใน 5-7 วันหลังพ่นสารคุมวัชพืช

เทคนิคการ-003.jpg

ข้อควรระวังในการกำจัดวัชพืช

หากมิตรชาวไร่พบวัชพืชเถาเลื้อย หลังจากการใช้สารกำจัดวัชพืชแบบก่อนงอก ควรสำรวจชนิดของวัชพืชเถาเลื้อยที่งอกขึ้นมา เพื่อเลือกวิธีจัดการให้เหมาะสมกับชนิดของวัชพืช และต้นทุนในการจัดการ เช่น การใช้เครื่องจักรกล การใช้แรงงานคน หรือการใช้สารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอก เป็นต้น ซึ่งหากเลือกใช้สารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอก ต้องเป็นสารประเภทเลือกทำลายเฉพาะวัชพืชใบกว้าง เช่น ทู โฟร์ ดี ไดเมทิลแอมโมเนียม อัตรา 400 ซี.ซี.ต่อไร่, ไตรคลอเพอร์ อัตรา 125 ซี.ซี.ต่อไร่ หรือ ทู โฟร์ ดี + พิคลอแรม อัตรา 400 ซี.ซี.ต่อไร่ เป็นต้น ซึ่งข้อจำกัดของการใช้สารกำจัดวัชพืชแบบหลังงอกประเภทนี้คือ ไม่สามารถกำจัดวัชพืชใบแคบได้

มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มหวังว่า เทคนิคหรือหลักการเบื้องต้นนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องมิตรชาวไร่ไม่มากก็น้อยนะคะ

ข่าวปักหมุด