- มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
- ส., 26 ธ.ค. 63
เมื่อพูดถึงลักษณะอาการบ่งชี้ว่าอ้อยเกิดโรคหรือไม่สมบูรณ์ อาการต่าง ๆ มักแสดงออกมาจากหลายส่วนของอ้อย ไม่ว่าจะใบอ้อย ลำต้น ราก หรือเนื้อเยื่อ ซึ่งขึ้นอยู่กับโรคหรือความผิดปกติที่อ้อยได้รับแตกต่างกันออกไป
วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอยกตัวอย่างการวิเคราะห์อาการอ้อยที่มีลักษณะเป็นจุดประ สีสนิม ที่ใบอ้อย เพื่อสันนิษฐานว่าอาการลักษณะนี้ เมื่อเกิดขึ้นกับอ้อย สาเหตุมาจากอะไร
เมื่อมิตรชาวไร่สังเกตพบอ้อยมีลักษณะใบแห้งตาย มีสีคล้ายสนิม สันนิษฐานได้ว่าอ้อยขาดแมกนีเซียม หรือแคลเซียม อ้อยเป็นโรคราสนิมที่เกิดจากเชื้อรา ในการวินิจฉัยที่แม่นยำต้องอาศัยข้อมูลประกอบเช่นสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ผลวิเคราะห์ดิน ประวัติการใช้ปุ๋ย และความชำนาญของผู้วินิจฉัย ในกรณีที่ขาดแมกนีเซียม (Mg) ซึ่งเป็นธาตุอาหารสำคัญสำหรับการสังเคราะห์แสง ธาตุแมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการผลิตน้ำตาลของอ้อย ช่วยลำเลียงฟอสฟอรัสในต้นพืช ซึ่งฟอสฟอรัสก็มีส่วนช่วยด้านผลผลิตอ้อยและคุณภาพน้ำตาล และแมกนีเซียมช่วยด้านการหายใจของอ้อยด้วย
การขาดธาตุแมกนีเซียมของอ้อย จะแสดงอาการที่ใบแก่ โดยเกิดแผลแห้งตายสีแดง ทำให้มองเห็นว่าเป็นสีสนิมเกิดขึ้น การขาดแมกนีเซียมอย่างรุนแรง ลำต้นอ้อยจะมีการแคระแกร็นทำให้เกิดเป็นสีสนิมอย่างรุนแรง และมีสีน้ำตาล โดยภายในลำต้นนั้นจะกลายเป็นสีน้ำตาลได้ ซึ่งสนิมที่เกิดขึ้นสามารถแพร่กระจายไปทั่วทั้งแผ่น และอาจทำให้ใบแก่นั้นเกิดการหลุดหักร่วงก่อนอายุจริง
อ้อยที่ขาดแมกนีเซียม จะมีจุดประ คล้ายสนิมเหล็ก ทั่วบริเวณด้านบนของใบภายในลำอ้อย หากผ่าดูจะมีสีน้ำตาล ทำให้ใบแก่ หลุดร่วงก่อนอายุ ลำต้นอาจแคระแกร็น ลักษณะคล้ายกับอ้อยขาดแคลเซียมมาก ซึ่งโดยทั่วไปอ้อยที่ขาดแคลเซียมจะแสดงอาการใบจุดเหลืองที่มีเนื้อเยื่ออ่อนตายเป็นจุด ๆ แล้วต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีแดงสนิม ในกรณีที่รุนแรงมาก ใบที่เจริญไม่เต็มที่จะงอบิดเบี้ยว ยอดใบบิดม้วนและตาย ลำจะผอมเรียวและสั้น มีจุดเหลืองหรือสนิมที่เกิดจากเนื้อเยื่อตายตามขอบใบ
เนื่องจากการขาดแมกนีเซียม มักเกิดในดินทรายและดินที่มีโพแทสเซียมสูง ซึ่งการใส่โพแทสเซียม (K) ในอัตราสูง ในขณะที่ดินมีแมกนีเซียมต่ำ จะทำให้เกิดการขาดแมกนีเซียม ในขณะที่ดินที่มีแมกนีเซียมต่ำ ปุ๋ยที่ให้แมกนีเซียม ได้แก่ โดโลไมท์ (dolomite) แมกนีไซต์ (Magnesite) และแมกนีเซียมซัลเฟต (magnesium sulfate) ในทางกลับกันอ้อยที่ได้รับขาดแมกนีเซียมสูง (มากกว่า 0.35 – 0.6%) และมีระดับของไนโตรเจนที่สูง (3.5 – 4.0%) อ้อยอาจแสดงการขาดโพแทสเซียมถ้ามีแมกนีเซียมมากกว่า 0.6% จะเกิดแมกนีเซียมเป็นพิษ
มิตรชาวไร่จะเห็นว่า การขาดธาตุแมกนีเซียมก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นเราควรใส่ปุ๋ยในปริมาณที่อ้อยต้องการไม่มากและไม่น้อยจนเกินไป เมื่อเราทราบสาเหตุและวิธีป้องกันอ้อยเพื่อไม่ให้เกิดอาการขาดแมกนีเซียมแล้ว ขอให้มิตรชาวไร่นำหลักการจากบทความนี้ไปปรับใช้กับพื้นที่ของท่านได้ เพื่อสุขภาพอ้อยที่สมบูรณ์แข็งแรงจนอ้อยครบอายุการเก็บเกี่ยว 12-13 เดือน
ขอบคุณที่มา:
https://www.kubotasolutions.com/knowledge/sugar_cane/detail/390
ภาพจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย