- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- พ., 23 ม.ค. 62
ปัจจุบันกระแสการดูแลสุขภาพ และการตื่นตัวของผู้บริโภคพืชผักปลอดสารพิษมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง บ่อยครั้งพืชผักที่วางขายตามท้องตลาดก็ไม่ได้บ่งบอกว่าเป็นผักปลอดสารพิษ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าผักที่เราบริโภคนั้นจะปลอดภัย คำตอบง่าย ๆ คือ การบริโภคผักที่เราปลูกเอง แต่หนึ่งปัญหาที่ผู้ปลูกผักต้องพบเจออย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ปัญหาหนอน แมลง ศัตรูพืชที่มากัดกินพืชผัก ทำให้ผลผลิตเสียหายและไม่สามารถนำมารับประทานได้
ในปัจจุบันได้มีการค้นคว้า วิจัยสารชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ออกมาเพื่อช่วยจัดการกับปัญหาแมลงศัตรูพืช ซึ่งอีกหนึ่งชนิดที่น่าสนใจ และราคาต้นทุนไม่สูง นั่นคือการใช้ “ไส้เดือนฝอย” ในการจัดการกับแมลงศัตรูพืชที่มากัดกินพืชผักของเรานั่นเอง
“ไส้เดือนฝอย” เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก โดยระยะเข้าทำลายแมลงจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า มีลักษณะลำตัวกลมยาวคล้ายเส้นด้าย ไส้เดือนฝอย เป็นพาราสิตได้ทั้งในระยะตัวหนอนและตัวเต็มวัย สามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ให้ลูกรุ่นใหม่ภายในลำตัวของหนอนอย่างต่อเนื่อง จนแมลงหรือหนอนเหลือแต่ซาก จึงเคลื่อนที่ออกจากซากเหยื่อ ในช่วงที่เป็นตัวอ่อนระยะที่ 3 ลงสู่ดิน ซึ่งตัวอ่อน ระยะที่ 3 นี้ มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดีที่สุด สามารถอยู่ในดินเพื่อรอเหยื่อแมลงใหม่ได้มากกว่า 6 เดือน โดยพบว่าแมลงระยะตัวหนอนหลายชนิดเป็นแหล่งอาหารที่ดีของไส้เดือนฝอย เมื่อเข้าไปเป็นพาราสิตในตัวหนอน จะสามารถเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ 2-3 ชั่วอายุ ให้ลูกรุ่นใหม่ตั้งแต่ 10,000-100,000 ตัวต่อหนอน 1 ตัว (ขึ้นกับชนิดและขนาดของหนอน)
การใช้ไส้เดือนฝอยสายพันธุ์ไทยเพื่อกำจัดแมลงศัตรูผัก ได้แก่ คะน้า กวางตุ้ง และผักกาดขาว ซึ่งมีอายุปลูก 45 วัน และแมลงศัตรูสำคัญที่พบเข้าทำลายใบผักคือ หนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบ และด้วงหมัดผัก การใช้ไส้เดือนฝอยพ่นกำจัดแมลงเป้าหมายเหล่านี้ จึงควรมีความรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตและการระบาดของแมลง เพื่อวางแผนการเพาะเลี้ยงไส้เดือนฝอย และการใช้ที่เหมาะสมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการพ่นชีวภัณฑ์ไส้เดือนฝอย ซึ่งขึ้นกับอัตราและจำนวนครั้งของการพ่นสัมพันธ์กับการระบาดของแมลงในแปลงปลูก หากพบแมลงระบาดมากควรพ่นทุก 5-7 วัน ถ้าระบาดน้อยสามารถลดจำนวนครั้งลงเป็นพ่นทุก 10 วัน
ดังนั้น เกษตรกรจึงควรสำรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบแมลงศัตรูผักสำคัญ 5 ชนิดนี้ จำนวน 1 ตัวต่อ 2 ต้น ควรมีการใช้ไส้เดือนฝอยพ่นกำจัดทันที เพื่อควบคุมประชากร และการแพร่ระบาดของแมลงเหล่านี้ ก่อนทำความเสียหายให้กับใบผัก
นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืชซึ่งเป็นแหล่งอาศัยของแมลงในแปลง จะช่วยลดการแพร่ระบาดของแมลง และในแปลงผักควรเก็บต้นผักที่หลงเหลือในแปลงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว นำไปเผาทำลายนอกแปลงไม่ให้ค้างหรืองอกอยู่ในแปลงเพราะจะเป็นที่อยู่อาศัยของแมลงได้ รวมถึงต้องมีการสุ่มตรวจใต้ใบผัก หากพบไข่หรือตัวหนอน รีบกำจัดออกนอกแปลง ที่สำคัญควรปลูกพืชสลับหมุนเวียนในแปลง จะช่วยควบคุมประชากรของแมลงศัตรูพืช และปลูกพืชหลายชนิดในแปลงผักเดียวกัน
ดังนั้น การใช้ไส้เดือนฝอยในการกำจัดแมลงศัตรูพืช จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีเพื่อการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยวิธีการนี้เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อยหรือกลุ่มเกษตรกรผลิตพืชผักอินทรีย์ ผักอนามัย ผักปลอดสารพิษ และ กลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาแมลงดื้อยา จึงนับเป็นชีวอินทรีย์ที่สามารถนำมาใช้ และมีศักยภาพในการกำจัดแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด นำมาใช้ทดแทนหรือลดจำนวนครั้งของการใช้สารเคมี ได้ผลิตผลเกษตรที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
หากมิตรชาวไร่ท่านใดที่เป็นสายสุขภาพ ลองศึกษาเพิ่มเติม และหาไส้เดือนฝอยมาใช้ ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เรามั่นใจได้ว่าพืชผักที่เราใช้บริโภคนั้น สะอาด ปลอดภัย ห่างไกลสารพิษ และผู้ปลูกเองก็ยังลดการสัมผัสกับสารเคมีต่าง ๆ ลงอีกด้วย
ขอบคุณที่มา:
ขอบคุณรูปภาพจาก: