หน้าแรก

ท่ามกลางความหวาดหวั่นของพลเมืองโลกกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้หลายคนหลงลืมหรือประมาทต่อโรคติดต่อชนิดอื่น ๆ ที่เคยระบาดในแต่ละช่วงฤดูกาล อย่างเช่นเมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าฝน โรคที่ต้องเฝ้าระวัง คือ “โรคไข้หวัดใหญ่” ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่สามารถแพร่กระจายไปสู่คนทุกเพศทุกวัยได้เช่นเดียวกับโควิด-19

ทราบหรือไม่ว่าตัวเลขผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในไทยเพียงแค่ช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึง 28 เมษายน 2563 มีจำนวนผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่าโควิด-19 ถึง 33 เท่า พบผู้เสียชีวิตสูงถึง 2 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก และอัตราการเสียชีวิตยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ ในกลุ่มผู้สูงอายุ  ซึ่งในปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีโรคระบาดทั้ง 2 โรคพร้อมกัน  นอกจากความเสี่ยงที่จะติดโรคใดโรคหนึ่งแล้ว ประชาชนยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อร่วมกัน (co-infection) จากทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 ได้  ซึ่งทำให้มีอาการรุนแรงและยิ่งทำให้การรักษามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

แม้โรคไข้หวัดใหญ่มักระบาดเพียงแค่ช่วงหน้าฝน แต่ความน่ากังวลของไข้หวัดใหญ่ที่เกิดในช่วงการระบาดของโควิด-19 คือมีอาการคล้ายคลึงกันมาก และสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นเมื่อมีการไอหรือจามได้เช่นเดียวกัน โดยถึงแม้ในปัจจุบันวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีแพร่หลาย  แต่พบว่าคนที่ได้รับวัคซีนแล้วยังคงสามารถป่วยจากไข้หวัดใหญ่ได้  เนื่องจากวัคซีนอาจมีประสิทธิภาพเพียง 40-60 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในแต่ละปี  ล่าสุดพบข้อมูลว่าผู้ป่วยติดเชื้อร่วมกันได้ทั้ง 2 โรค  ซึ่งลำพังเพียงแค่โควิด-19 ก็เพิ่มภาระงานและส่งผลต่อทรัพยากรทางการแพทย์มากเพียงพอแล้ว  เราจึงต้องหาวิธีจัดการกับไข้หวัดใหญ่ในช่วงเวลานี้ให้ไม่ซ้ำเติมกันเข้าไปอีก

โรคไข้หวัดใหญ่-004.jpg

ซึ่งปัจจุบัน การรับมือของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิดข้อจำกัดของทรัพยากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น จำนวนเตียงผู้ป่วยที่ลดลง และที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรทางการแพทย์อาจมีความเหนื่อยล้า จากการที่ต้องทำงานอย่างหนักและต่อเนื่องในช่วงของการแพร่ระบาด โดยปัญหาเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะทวีคูณหากคลื่นลูกที่สองในการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาชนกับฤดูไข้หวัดใหญ่ การใช้เทคโนโลยีการรักษาไข้หวัดใหญ่  เช่น ยาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ  จะสามารถลดระยะเวลาการรักษาที่โรงพยาบาลและแบ่งเบาภาระหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทั้งยังสามารถช่วยป้องกันการแพร่กระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่และการติดเชื้อร่วมกันได้อีกด้วย

ซึ่งสิ่งที่เราต้องร่วมมือกันคือ ป้องกันตนเองให้ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิด ด้วยวิธีดังนี้ 

  • หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับคนป่วย

  • หลีกเลี่ยงสถานที่แออัดในช่วงการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19

  • หมั่นล้างมือบ่อย ๆ และล้างให้สะอาดทุกครั้ง

  • หลีกเลี่ยงการเอามือเข้าปาก หรือขยี้ตา

  • อย่าใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ

  • ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี โดยเฉพาะวัดซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ที่ครอบคลุมเชื้อไวรัสทุกประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และที่สำคัญ อย่าลืมดูแลเรื่องอาหารการกินให้ครบทุกหมู่ เน้นอาหาร ปรุงสุก สะอาด และออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วยนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจาก มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

ที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.roche.co.th/

https://www.roche.co.th/

https://source.wustl.edu/

http://home.bt.com

 

ข่าวปักหมุด