จากสถานการณ์ของโควิด – 19 ส่งผลกระทบกับทุกภาคส่วน เศรษฐกิจต้องชะลอตัว หลายคนต้องมีการปรับตัว ปรับเปลี่ยนรูปแบบในการใช้ชีวิต และการดำเนินกิจการของตัวเอง ส่วนรัฐบาลก็หามาตรการต่าง ๆ เพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบของ New Normal เพื่อรับมือกับสถานการณ์นี้ให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี
เพื่อเป็นการเปิดมิติใหม่ของเกษตรกรไทย กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เปิดมิติใหม่ในการผลักดันตลาดนำการผลิต เจาะตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกช่องทาง โดยใช้หลักคิดที่ว่า “เกษตรกรผลิต พาณิชย์ตลาด” ภายใต้ยุทธศาสตร์ "ตลาดนำการผลิต (Demand Driver)” โดยมีการตั้งเป้าให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสินค้าเกษตรและอาหารคุณภาพของโลก มุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มจีดีพีของประเทศ และเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและผู้ประกอบการ พร้อมทั้งร่วมกันสร้าง Single Big Data โดยใช้ข้อมูลจากฐานรากเดียวกัน สร้างแพลตฟอร์มกลาง สร้างความเชื่อมั่นด้วยคุณภาพ มาตรฐานความปลอดภัย และการตรวจสอบย้อนกลับ มุ่งพัฒนาคนและผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการ พาสินค้าเกษตรบุกตลาดทั่วโลก ช่วยเกษตรกรและผู้ประกอบการขายสินค้า
โดยโครงการดังกล่าวเป็นความเชื่อมโยงระหว่างภาคเกษตรกรรมกับภาคพาณิชยกรรม เพื่อโอกาสในการขยายตลาดเก่าและการเพิ่มตลาดใหม่ โดยค้นหาความต้องการของตลาด และผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการ เพื่อจำหน่ายสินค้าเกษตรให้ถึงมือผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบทำออฟไลน์และออนไลน์ควบคู่กันไป รองรับความปกติใหม่หรือ New Normal โดยเน้นการส่งเสริมให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรรายย่อย ให้มีช่องทางเลือกในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและแปรรูป พัฒนาช่องทางการค้าขายผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ช่วยเกษตรกรทุกจังหวัดเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด – 19 ในครั้งนี้
ทั้งนี้การขับเคลื่อนการพัฒนาภาคเกษตรในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินนโยบายและมาตรการที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างจริงจัง โดยใช้หลัก “ตลาดนำการผลิต” ควบคู่กับการทำเกษตรสมัยใหม่ ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการวางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและล้นตลาด นอกจากนี้ยังมีการดำเนินนโยบายสนับสนุนในด้านอื่น ๆ อาทิ การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรจากภัยแล้งและอุทกภัย การส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย เช่น สินค้าเกษตรที่ได้รับการรับรอง GAP การทำเกษตรกรรมยั่งยืน เช่น เกษตรพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและบริการที่มีคุณภาพและมูลค่าสูง เช่น สินค้าอัตลักษณ์ สินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าเกษตรพรีเมี่ยม และการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผ่านระบบเกษตรแปลงใหญ่ การพัฒนาศูนย์เรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร จำนวน 882 ศูนย์ในทุกอำเภอทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาเกษตรกรเป็น Smart Farmer และ Young Smart Farmer ที่มีความเข้มแข็ง สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกัน มีศักยภาพในการบริหารจัดการการผลิตอย่างเป็นระบบ รวมถึงการเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ผ่านตลาดออนไลน์ ตลอดจนมีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ และศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและพี่น้องเกษตรกรสามารถเข้าถึงและนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตและการตลาด รวมทั้งสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเกษตร การประดิษฐ์นวัตกรรม และเครื่องจักรกลการเกษตร เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะและเกษตรสมัยใหม่
นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่เราจะได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ โดยได้รับการผลักดันและขับเคลื่อนจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันพัฒนาการเกษตรของประเทศเราให้ก้าวไกลสู่ตลาดโลกต่อไป
ขอบคุณที่มา:
https://siamrath.co.th/n/161711
ขอบคุณภาพ:
https://siamrath.co.th/n/161711
https://pantip.com/topic/40093835