หน้าแรก

เข้าสู่ฤดูหนาว ช่วงผลัดเปลี่ยนฤดูเป็นช่วงเวลาที่อากาศจะเย็นลงจากเดิม และในบางพื้นที่อาจจะเย็นลงโดยเฉียบพลัน ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายต้องปรับอย่างรวดเร็วเพื่อรับกับอุณหภูมิภายนอก จากสภาวะอากาศแบบนี้จึงทำให้เกิดโรคได้ง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กกำลังเจริญเติบโต ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอาการป่วยหรือสุขภาพไม่แข็งแรง โดยมิตรชาวไร่ต้องระมัดระวัง 6 โรคที่มากับหน้าหนาว ดังนี้

  1. ไข้หวัด

ไข้หวัด คือโรคพื้นฐานที่เป็นได้แทบจะทุกฤดูกาล แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวอาจจะเป็นได้ง่ายกว่าปกติถึง 2 เท่า ไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ โดยผู้ป่วยมักมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ นำมาก่อน จากนั้นจะเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดศรีษะ และปวดเมื่อยตามตัว

วิธีการรักษา - สำหรับคนส่วนมากมักหายเอง เมื่อเป็นไข้หวัดควรพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้บ่อย เช็ดตัวทุกชั่วโมงเพื่อระบายความร้อนในร่างกาย และรับประทานยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เหล่านี้เพียงบรรเทาอาการ ไม่ได้รักษา หรือทำให้หายเร็วขึ้น แต่ถ้ามีไข้ขึ้นสูงติดต่อกันนาน ควรพบแพทย์ เพื่อเช็คอาการให้ละเอียดต่อไป

  1. ไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดาแต่รุนแรงกว่า และหากปล่อยไว้จนมีอาการแทรกซ้อนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ไข้หวัดใหญ่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัส “อินฟลูเอนซา” (Influenza virus) ทางระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน ทำให้มีอาการ หนาวสั่น ไข้ขึ้นสูง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและศีรษะอย่างรุนแรง และอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

วิธีการรักษา - การรักษาคล้ายกับโรคไข้หวัดนั่นคือ ควรดื่มน้ำให้มาก เช็ดตัวทุกชั่วโมง รับประทานยาตามอาการ และมียาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่จำเป็นสำหรับทุกคน แต่ถ้ารับประทานยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ทันที

  1. ปอดบวม

ปอดบวม คือภาวะปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อไวรัส จนทำให้มีหนองและสารปนเปื้อนภายในถุงลม ผู้ป่วยมักมีอาการ คือ ไอ จาม มีเสมหะมาก แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ออก คัดจมูก หนาวสั่น มีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วัน ปอดบวมมักพบหลังจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรัง และในผู้ป่วยโรคหอบหืด ปอดบวมมักพบบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ และเด็กเล็กอายุระหว่าง 5 - 10 ปี

วิธีรักษา - ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด และหากแพทย์วินิจฉัยว่ามีอาการปอดบวมแล้ว จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ ควบคู่ไปกับยาลดไข้ ยาละลายเสมหะ และยาขยายหลอดลม พร้อมแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมาก ๆ เพราะน้ำจะช่วยละลายเสมหะได้

  1. หัด

หัด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส พบบ่อยในเด็กเล็ก อาการคือ มีไข้สูงประมาณ 3 - 4 วันติดต่อกัน จากนั้นจึงขึ้นผื่นแดงตามร่างกาย โดยผื่นจะค่อย ๆ โตขึ้น และมีสีเข้มขึ้น อาการที่สังเกตได้ว่าจะเป็นหัดคือ ผู้ป่วยมักมีตุ่มใส ๆ ขึ้นในปาก ตรงกระพุ้งแก้มและฟันกราม ซึ่งเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรคหัดเท่านั้น หลังจากผื่นออกประมาณ 2 - 3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ และหายได้เอง แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ โรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง สมองอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น ทั้งนี้หัดจะติดต่อทางลมหายใจ ไอ จาม กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดโรคนี้คือ วัยเด็กช่วงอายุ 5 - 9 ปี

วิธีการรักษา - โรคหัดไม่ใช่โรคร้ายแรงนัก แต่ยังไม่มียารักษาโดยตรง จึงต้องรักษาตามอาการ เช่น รับประทานยาลดไข้ ดื่มน้ำมาก ๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ อาการต่าง ๆ จะทุเลาลงเอง แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ เช่น หายใจสั้น เจ็บที่หน้าอกขณะหายใจ ชัก ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนรวม หัด หัดเยอรมันและคางทูม จะช่วยป้องกันโรคหัดได้ โดยปัจจุบันเด็กทุกคนจะได้รับวัคซีนนี้เมื่ออายุ 9 – 12 เดือน และต้องฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 6 ปี

  1. อุจจาระร่วง

เป็นโรคที่มาพร้อมกับฤดูหนาว มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยกลุ่มที่พบบ่อยที่สุดคือ เด็กอายุ 6 - 12 เดือน เพราะเด็กวัยนี้ยังมีภูมิต้านทานต่ำและมักมีพฤติกรรมหยิบสิ่งของเข้าปาก ซึ่งเพิ่มโอกาสให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น อาการคือ มีไข้ ถ่ายเหลวและอาเจียนอย่างหนัก จนอาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรงถึงขั้นช็อกหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการตามที่กล่าวมา ควรพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีการรักษา - ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง จึงทำได้แค่ประคับประคองอาการของผู้ป่วยให้ดีขึ้น โดยควรให้ผู้ป่วยจิบสารละลายเกลือแร่บ่อย ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ แต่หากผู้ป่วยดื่มน้ำไม่ได้ จำเป็นต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแทน ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ และอาการจะค่อย ๆ ทุเลาลง

shutterstock_2365900457.jpg

  1. โรคไข้สุกใส

โรคไข้สุกใส มักระบาดในช่วงปลายฤดูหนาวคือเดือนมกราคม - มีนาคม ติดต่อได้โดยการสัมผัสตุ่มน้ำใสโดยตรง หรือการสัมผัสของใช้ของผู้ป่วย เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำเข้าไป พบมากในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อาการแรกเริ่มจะคล้าย ๆ ไข้หวัดใหญ่คือ ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร ปวดเมื่อยตามร่างกาย แต่จะมีผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสขึ้นตามร่างกาย มีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้นจะแห้งและตกสะเก็ดภายใน 5 - 10 วัน และอาการไข้ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น

วิธีการรักษา - ไข้สุกใส ต้องรักษาตามอาการ เมื่อมีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ งดการใช้ของร่วมกับผู้อื่น และหยุดพักจนกว่าจะหายดี ห้ามแคะ แกะเกา บริเวณตุ่ม เพราะอาจทำให้อักเสบ และเป็นแผลเป็นได้ ส่วนมากผู้ป่วยโรคนี้ไม่ต้องพบแพทย์ เพราะอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคแทรกซ้อน และอาการจะทุเลาลงเอง

ทั้ง 6 โรคนี้ เป็นโรคที่มักระบาดในช่วงฤดูหนาว เพราะติดต่อได้ง่าย เช่น การไอ จาม สัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกัน ดังนั้นมิตรชาวไร่จึงควรดูแลร่างกายให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รักษาความสะอาด ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งสกปรก โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหรือผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด หรือโรคโลหิตจาง ควรดูแลร่างกายเป็นพิเศษ เนื่องจากมีระดับภูมิต้านทานต่ำ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

ขอบคุณที่มา :  

https://bth.co.th/th/

ขอบคุณที่มาภาพ :

https://today.line.me/

 

ข่าวปักหมุด