เมื่อมิตรชาวไร่ปลูกอ้อยไปสักระยะ ก็ถึงเวลาต้องคอยหมั่นเช็กโรคและแมลงศัตรูอ้อยกันแล้วนะคะ จะเห็นว่าปัจจุบันมีโรค แมลงที่เกิดกับอ้อยมากมายหลากหลายจริง ๆ ซึ่งอ้อยแต่ละพันธุ์ต่างมีโรค แมลง ขาประจำแตกต่างกันออกไป หน้าที่ของเกษตรกรอย่างเราคือ ต้องคอยหมั่นเช็กและรับมือกับปัญหาเหล่านี้ เพื่อให้อ้อยเจริญเติบโตได้อย่างไม่มีอุปสรรค
มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มวันนี้ขอพูดถึงโรคอ้อยชนิดหนึ่ง ที่มักเกิดได้เสมอในแปลงอ้อยที่ปลูกอ้อยซ้ำ ๆ ไม่ตัดวงจรโรคด้วยการปลูกพืชตระกูลถั่ว นั่นคือ โรคใบจุดวงแหวน
โรคใบจุดวงแหวน (Ring Spot disease) เกิดจากเชื้อรา Leptosphaeria sacchari อ้อยที่เป็นโรคนี้เริ่มแรกจะมีจุดสีเขียวชุ่มน้ำ แล้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวเข้ม ขอบสีน้ำตาล หรือจุดสีน้ำตาลเล็ก ๆ ตรงกลางมีสีขาว ลักษณะคล้ายรูปไข่ ต่อมาแผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง และมีสีเหลืองล้อมรอบ (halo) เมื่อแผลขยายใหญ่ขึ้น ภายในแผลก็จะแห้ง สีคล้ายฟางข้าว และขอบแผลเป็นสีน้ำตาลถึงน้ำตาลเข้ม เมื่อเกิดแผลจำนวนมากติดต่อกัน ใบจะไหม้เป็นบริเวณกว้าง แต่ยังมีขอบล้อมรอบแต่ละแผลอยู่เช่นเดิม
โดยมากมักพบโรคนี้กับอ้อยพันธุ์ขอนแก่น 3 ในพื้นที่ ที่มีความชื้นสูง พื้นที่ภูเขา ความเสียหายจากโรคใบจุดวงแหวนอ้อยคือ ทำให้การสังเคราะห์แสงของอ้อยลดน้อยลง น้ำหนักและความหวานของอ้อยก็ลดลงตามไปด้วย
แนวทางแก้ปัญหาหากมิตรชาวไร่พบว่าอ้อยติดโรคใบจุดวงแหวนคือ การพักดินปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อตัดวงจรของโรคนั่นเองค่ะ
ซึ่งการพักดินและปลูกพืชบำรุงดินเพื่อตัดวงจรโรค เป็นหนึ่งในหลักสี่เสาพลัสของการปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม นอกจากนี้การปรับสัดส่วนพันธุ์ โดยนำอ้อยพันธุ์ใหม่ มาปลูกทดแทนพันธุ์ขอนแก่น 3 ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งจะช่วยลดการระบาดของโรคแมลงได้
ที่มาข้อมูล-ภาพ