หน้าแรก

เมื่อฤดูกาลเปลี่ยน โรคภัยไข้เจ็บประจำฤดูกาลก็เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ฤดูหนาวนี้นอกจากโควิด-19 ที่ดูเหมือนจะกลับมาระบาดอีกระลอก และเป็นโรคติดต่อที่ยังไม่มียารักษา การระมัดระวังดูแลสุขภาพของมิตรชาวไร่ยิ่งต้องเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นทวีคูณ โรคใหม่ยังไม่ทันหายไป โรคเก่าประจำฤดูกาลก็พร้อมจะโจมตีคนที่สภาพร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้มีโรคประจำตัว

สำหรับโรคอันตราย ที่มากับฤดูหนาวนั้นมี 6 โรคด้วยกันที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มอยากเตือนให้พี่น้องมิตรชาวไร่ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้

  1. ไข้หวัด (Common cold) หมายถึง โรคไข้หวัดธรรมดา ซึ่งจะมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอจาม คันคอ เป็นอาการเด่น ไม่ค่อยมีไข้ และไม่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ ไข้หวัดธรรมดา เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยเชื้อแต่ละชนิดจะทำให้เกิดอาการของโรคแตกต่างกันไป เช่น Rhinovirus อาจทำให้เกิดอาการหวัดธรรมดาในผู้ใหญ่ แต่ถ้าในเด็กอาจทำให้เกิดปอดอักเสบและติดเชื้อจนมีอาการรุนแรงได้ โดยปกติไข้หวัดจะเป็นโรคที่หายเองได้ใน 1 สัปดาห์ แต่ก็พบว่าเป็นโรคที่ทำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์มากที่สุด โดยเฉลี่ยเด็กจะเป็นไข้หวัด 6 – 12 ครั้ง/ปี ส่วนผู้ใหญ่จะเป็น 2 – 4 ครั้ง/ปี สำหรับโรคหวัดธรรมดา ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน สิ่งที่ทำได้คือ การดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีคุณค่า ไม่เข้าใกล้ หรือคลุกคลีกับคนที่เป็นหวัด
  2. ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เกิดจากเชื้อไวรัส Influenza ที่ทำให้เกิดอาการรุนแรง และพบแพร่ระบาดอยู่บ่อย ๆ 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ A และสายพันธุ์ B ไข้หวัดใหญ่จะมีอาการ ไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัวมาก อาจมีคลื่นไส้อาเจียน พบระบาดมากในฤดูฝนและฤดูหนาว มักจะเป็นในกลุ่มวัยทำงานและเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 5 ปี ไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน และเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดทุกปี เนื่องจากเชื้อไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธ์ใหม่ทุกปี และภูมิคุ้มกันจากวัคซีนเดิมก็จะลดลงจนไม่สามารถป้องกันโรคได้
  3. โรคปอดบวม หรือปอดอักเสบ (Pneumonia) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบ จนมีหนองและสารน้ำในถุงลม ทำให้ร่างกายไม่สามารถรับออกซิเจนได้ อาการ ไข้ ไอ เสมหะมาก แน่นหน้าอกเหมือนหายใจไม่ออก หอบ หายใจเร็ว ส่วนใหญ่มักจะเป็นหลังจากที่เป็นไข้หวัดเรื้อรัง หวัดแบบรุนแรง หลอดลมอักเสบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่เป็นหอบหืด พบโรคนี้มากในฤดูฝน และพบได้บ่อยในฤดูหนาว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก และผู้สูงอายุ
  4. โรคหัด (Measles) เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อไวรัสรูบีโอราไวรัส (Rubeola virus) ติดต่อได้ทางลมหายใจ ไอจามรดกันโดยตรง หรือหายใจเอาละอองเสมหะที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าไป อาการเริ่มแรกจะคล้ายกับหวัดธรรมดา ซึ่งเราอาจจะไม่ทราบว่าเด็กป่วยเป็นโรคหัดจนเมื่อมีอาการมากขึ้น มีไข้สูง ตาแดงแฉะ เวลาถูกแสงจะแสบตา ระคายเคืองตา ไอและมีน้ำมูกมาก ในเด็กจะมีไข้สูง ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นจะเริ่มมีผื่นที่หลังหูแล้วลามไปหน้า และร่างกาย ผื่นจะมีขนาดโตและสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าสังเกตดีดีจะพบว่า วันก่อนที่จะมีผื่นตามลำตัว จะพบลักษณะเฉพาะของโรคหัด คือมีตุ่มเล็ก ๆ ในปากตรงกระพุ้งแก้มฟันกรามบน พอผื่นออกประมาณ 1-2 วัน อาการจะดีขึ้น แต่อาจจะมีโรคแทรกซ้อนได้ เช่น ปอดบวม อุจจาระร่วง คออักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ โรคนี้มักระบาดช่วงปลายฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน ประมาณเดือนมกราคม – มีนาคม ส่วนใหญ่พบในเด็กก่อนวัยเรียนและเด็กวัยเรียน อายุ 5-9 ปี ไม่ค่อยพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิคุ้มกันโรคที่ได้รับจากแม่อยู่ ปัจจุบันโรคนี้มีวัคซีนป้องกัน ซึ่งเป็นวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด หัดเยอรมัน และคางทูม ฉีด 2 ครั้ง ครั้งแรกตอนอายุ 9-12 เดือน และครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 6 ขวบ หรืออยู่ชั้นประถม 1
  5. หัดเยอรมัน (Rubella) เกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ รูเบลลา (Rubella) มีอยู่ในน้ำมูก และน้ำลายของคนที่เป็นโรคนี้ เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ อาการ จะมีไข้ต่ำ ๆ ร่วมกับผื่นเล็ก ๆ สีอ่อน ๆ กระจายไปทั่ว เริ่มจากที่หน้าผาก ชายผม รอบปาก แล้วค่อยลามมาที่ลำคอ ลำตัว แขนขา มักจะหายได้เองภายใน 3-6 วัน บางรายอาจมีผื่นแต่ไม่มีไข้ก็ได้ บางรายอาจมีการติดเชื้อแต่ไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ แต่อาการที่สำคัญของโรคนี้ คือ มีต่อมน้ำเหลืองโต บริเวณหลังหู ท้ายทอย และข้างคอ 2 ข้าง อันตรายของโรคนี้คือ หากผู้หญิงเป็นตอนที่ตั้งครรภ์ได้ 3 เดือน อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ เมื่อคลอดออกมาอาจมีภาวะต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการ สมองอักเสบ ปัญญาอ่อน อาการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกัน หรือเป็นเพียงอย่างเดียวก็ได้ ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการตรวจสุขภาพ ก่อนสมรส หรือก่อนตั้งครรภ์
  6. โรคสุกใส (Chickenpox/Varicella) ที่เกิดจากเชื้อไวรัส Varicella หรือ Human herpes virus type 3 ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคงูสวัด ติดต่อได้โดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรง หรือถูกของใช้ของผู้ป่วยที่เปื้อนสารคัดหลั่งจากตุ่มน้ำของผู้ป่วย หรือหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำเข้าไป อาการ ไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ในผู้ใหญ่จะมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัว ผื่นจะเริ่มขึ้นพร้อม ๆ กับวันที่มีไข้ เริ่มแรกจะมีผื่นแดงราบ ต่อมาตุ่มจะนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างใน มีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง ผื่น และตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ทะยอยขึ้น ไม่ขึ้นพร้อมกันทั่วตัว พบมากในช่วงปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน แต่ก็อาจพบได้ประปรายตลอดทั้งปี พบมากในเด็กวัยเรียน โดยเฉพาะอายุ 5-9 ปี เนื่องจากโรคนี้ ติดต่อได้ค่อนข้างง่ายจากการสัมผัส ปัจจุบันโรคนี้ป้องกันได้ด้วยวัคซีน ซึ่งจะฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน ในช่วงอายุประมาณ 1 ปี แต่สำหรับคนที่เคยป่วยเป็นโรคนี้แล้ว จะมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ได้ตลอดชีวิต

shutterstock_2438374179.jpg

แม้โรคติดต่อหรือโรคติดเชื้อหลายโรคในปัจจุบัน จะสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน แต่ก็มีอีกหลายโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เช่น หวัด โควิด-19 เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ทุกคนต้องพึงปฏิบัติคือ ดูแลรักษาตัวเองและคนรอบข้าง ทั้งเรื่องการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รวมถึงสวมหน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ก่อนหยิบจับอาหารเข้าปากนะคะ

ขอบคุณที่มา:

https://www.synphaet.co.th/

http://odpc1.ddc.moph.go.th/

https://www.sanook.com/

 

ข่าวปักหมุด