หน้าแรก

สวัสดีปีใหม่ค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ทุกท่าน ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่ท้าทายสำหรับพี่น้องเกษตรกรมาก ๆ อีกปีนึงเลยนะคะ ตั้งแต่ภาวะแล้ง ผลผลิตทางการเกษตรลดลง แล้วยังมีวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว แต่พี่น้องเกษตรกรเครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนาและสมาชิกโครงการทำตามพ่อ ปลูกเพ(ร)าะสุขที่ถือเป็นกลุ่มต้นน้ำ หรือผู้ผลิตอาหารก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน

หลายปีมานี้พี่น้องเกษตรกรได้มุ่งมั่นพัฒนาพื้นที่แปลงเกษตรของตนเอง จนสามารถสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย กระจายสู่ผู้บริโภคทั้งในและนอกชุมชนได้เป็นจำนวนมาก มีรายได้เสริมเพิ่มขึ้น จำหน่ายสินค้าได้อย่างต่อเนื่อง บางรายแทบจะไม่ต้องทำตลาดเลย เพราะผลผลิตถูกจองไปหมดแล้ว แต่พอเจอวิกฤติโควิด-19 มีการใช้มาตรการเร่งด่วนในการป้องกันการแพร่ระบาด โดยการปิดสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแออัด เบียดเสียด เพื่อจำกัดการรวมกลุ่มของผู้คน ก็ทำให้ “ตลาดชุมชน” ที่เป็นแหล่งกระจายสินค้าการเกษตรที่สำคัญถูกปิดไปด้วย แถมพฤติกรรมของผู้บริโภคในทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะไม่มีใครอยากออกจากบ้าน ทำให้การจำหน่ายสินค้าการเกษตรก็ต้องหยุดชะงักไปในที่สุด และนี่แหละค่ะ คือ จุดเริ่มต้นของการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เปลี่ยนวิถีเกษตรกรให้รู้จักกับตลาดออนไลน์มากขึ้น

วันนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกร มาถ่ายทอดให้ทุกท่านได้ฟังว่าแต่ละพื้นที่มีแนวทางการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างไรให้เหมาะสมกับวิถีใหม่ หรือที่เราเรียกว่า New Normal ที่เกิดขึ้นมาในสังคมสักระยะหนึ่งแล้ว

เอาตัวรอดด้วยการ เรียนรู้สู่การ ปรับเปลี่ยนที่ดีกว่า

จากภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้พี่น้องเกษตรกรฯ ต่างก็ได้เรียนรู้ถึงการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดระยะเวลาเกือบครึ่งค่อนปีที่ผ่านมา รวมถึงจากการที่พี่น้องเกษตรกรฯ ร่วมประชุมสรุปบทเรียนการดำรงชีพและเอาตัวรอดในวิกฤติโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นว่าผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่สามารถนำออกไปจำหน่ายในตลาดได้ตามเดิมนั้น ส่งผลให้พี่น้องเกษตรกรขาดรายได้เสริมไม่น้อยเลยค่ะ ทำให้การที่จะเอาตัวรอดให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น พี่น้องเกษตรกรฯ จึงต้องยอมที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตให้แตกต่างจากที่เคยเป็นอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าในอันดับต้น ๆ ที่จะต้องปรับเปลี่ยนนั่นก็คือ การค้าขายบน “ตลาดออนไลน์” เพราะถือเป็นทางออกเดียวที่ได้ผลดีที่สุดที่จะทำให้ผลผลิตจากแปลงเกษตรเดินทางไปหาผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับช่องทาง Social media ที่กลายมาเป็นตลาดออนไลน์ ค้าขายสินค้าเกษตรนั้น มีอะไรและของใครบ้าง ไปติดตามกันค่ะ

  • Facebook เป็นการพัฒนาช่องทางการจำหน่ายผลผลิตการเกษตรของ “พี่กำไร” สมาชิกโครงการทำตามพ่อฯ จากบ้านดอนเตาเหล็ก อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ ที่ได้ลองปรับเปลี่ยนพื้นที่ Facebook มาเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าการเกษตรของตนเองไม่ว่าจะเป็น ไข่ไก่ ไข่เป็ด ปลานิล ปลาตะเพียน ฯลฯ โดยใช้ชื่อ Facebook ว่า “ชนากานต์ ลาภไพศาล” ซึ่งพี่กำไรมองว่า ช่องทางนี้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงจากการไปจำหน่ายสินค้าในตลาดชุมชนที่มีคนหนาแน่น ทำให้พี่กำไรมีรายได้เข้ามาต่อเนื่องไม่ต่างจากก่อนที่โควิด-19 แพร่ระบาดเลยค่ะ
  • กลุ่มไลน์ (Line) เป็นช่องทางที่กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผักและผลไม้บ้านหนองครก ต.แจงงาม อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี ได้ใช้อัพเดทสินค้าผักสวนครัวเข้าไปใน Line กลุ่มตลาดสีเขียว (Market Online @MPDC) ของโรงงานมิตรผลด่านช้าง เพื่อประชาสัมพันธ์จำหน่ายสินค้าการเกษตรให้ทั้งพนักงานและคนในชุมชนรอบโรงงานได้สั่งซื้อ ช่องทางนี้ก็ถือว่าเป็นผลดีต่อสมาชิกกลุ่มฯ เพราะสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย จัดส่งสินค้าได้รวดเร็ว ระยะทางจากที่ตั้งกลุ่มไปยังหน้าโรงงานก็ไม่ถือว่าไกลมากนัก จึงไม่มีข้อจำกัดเรื่องระยะทาง
  • Line Official เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่เพิ่งเริ่มพัฒนาขึ้นในชื่อร้าน “ข้าว ผัก ปลา” ให้เป็นเสมือนแหล่งรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของเครือข่ายสมาชิกโครงการทำตามพ่อฯ ในพื้นที่โรงงานมิตรภูเขียว เพื่อรองรับผู้บริโภคที่หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน หรือพนักงานในโรงงานมิตรภูเขียวที่ต้องการซื้อสินค้า แต่ยังกังวลกับการเข้าไปในสถานที่ที่มีคนแออัด ฉะนั้นร้าน “ข้าว ผัก ปลา” จึงมีหน้าที่ช่วยคลายความกังวลเหล่านั้นให้หายไป เพราะการซื้อขายในนี้ยังให้ความรู้สึกแก่ผู้ซื้อเหมือนได้ไปจ่ายตลาดจริง เพราะเป็นการซื้อตรงจากเกษตรกร มีสินค้าครบทั้ง ข้าว พืชผัก ผลไม้ และสินค้าแปรรูป เพียงแค่สแกน QR Code หรือแอด Line ID ก็เป็นเพื่อนกับร้านข้าวผักปลาได้ง่าย ๆ และสามารถพูดคุยสอบถามกับพี่น้องเกษตรกร (Admin) ได้อีกด้วยนะคะ

สามช่องทางนี้เป็นเพียงแค่ตัวอย่างเล็ก ๆ ของการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าแต่ “ตลาดออนไลน์” นั้นยังมีประโยชน์มากกว่าที่เราคิดนะคะ เพียงแค่พี่น้องเกษตรกรเปิดใจเรียนรู้เทคนิคการใช้ช่องทางออนไลน์เล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สามารถขายสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนการขายลงได้ และพื้นที่ตลาดออนไลน์นี้เองยังทำให้พี่น้องเกษตรกรได้ลูกค้าที่ไม่ใช่แค่ในชุมชน สามารถขยายออกไปนอกชุมชน หรือต่างประเทศได้อีกด้วย รวมถึงผู้บริโภคก็ยังเข้าถึงแหล่งผลิตอาหารและสินค้าการเกษตรได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่ซื้อไป มีคุณภาพ และเป็นอาหารปลอดภัยอย่างแท้จริง

สำหรับเรื่องราวที่ได้ถ่ายทอดให้พี่น้องมิตรชาวไร่ได้ฟังในครั้งนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นแรงบันดาลใจและไอเดียใหม่ ๆ ให้สำหรับท่านที่กำลังมองหาช่องทางการตลาดที่แตกต่างไปจากเดิม หรืออยากจะลองปรับใช้ควบคู่กันไป สำหรับท่านใดที่มีแหล่งจำหน่ายอยู่แล้ว ก็ลองนำเอาไอเดียเหล่านี้ไปทดลองใช้กันดูนะคะ เชื่อว่าคงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปสำหรับหลาย ๆ ท่านที่คุ้นชินกับการท่องโลกออนไลน์และเล่น Social Media เป็นประจำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะใช้ Facebook, Line หรือแอปพลิเคชั่นอื่น ๆ ก็สะดวก และเข้าถึงง่ายไม่แพ้กัน และที่สำคัญคงจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับทุกท่านได้ไม่น้อยเลยค่ะ

ตลาดออนไลน์-003.jpg

สุดท้ายนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องเกษตรกรไทยทุกคน ให้สามารถปรับตัว และอยู่ได้ดีในภาวะวิกฤติที่กระทบกับคนทั่วโลกในขณะนี้ เพราะเราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วถ้าพวกเรา “ปลูกสิ่งที่กิน และกินสิ่งที่ปลูก” ไม่ว่าวิกฤติจะรุนแรงแค่ไหน เราก็ยังมีอยู่มีกิน มีความมั่นคงทางอาหาร ทำให้เรามีเรี่ยวแรง ยิ้มสู้กับทุกปัญหาที่ผ่านเข้ามาทดสอบพวกเราได้ค่ะ

ที่มา : เครือข่ายตำบลมิตรผลร่วมพัฒนา จากวารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด