หน้าแรก

เข้าสู่ปีที่สามแล้วสำหรับ “โครงการทำตามพ่อ ปลูกเพ(ร)าะสุข” โครงการที่มิตรผลทำร่วมกับพี่น้องมิตรชาวไร่ โดยน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาด้านการทำเกษตรทฤษฏีใหม่มาสู่เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ แบ่งพื้นที่ในแปลงมาทำเกษตรผสมผสานนอกเหนือจากการทำอ้อยเป็นหลัก

โดยปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการกว่า 8,000 ครัวเรือน เห็นรูปธรรมความสำเร็จชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการดำเนินโครงการมากว่า 2 ปี คณะทำงานได้วัดผลโครงการว่าเกิดประโยชน์กับพี่น้องชาวไร่อ้อยมากน้อยแค่ไหน โดยผู้เชี่ยวชาญจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 288 คน รวมถึงผู้บริหารและคณะทำงานแต่ละโรงงาน รวม 83 คน เพื่อให้ทราบว่าที่ผ่านมาการดำเนินงานทำได้เหมาะสม และเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรแค่ไหน และมีอะไรที่ควรปรับปรุง

ซึ่งการทำวิจัยครั้งนี้ เกิดการวัดดัชนีความสุขของเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการ โดยแบ่งออกเป็น 5 มิติ ดังนี้

ความสุขด้านเศรษฐกิจ คือ ความสุขของเกษตรกรจากการลดค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร เพราะการปลูกอยู่ปลูกกิน และมีเหลือก็ขายเป็นรายได้เสริม นอกเหนือจากรายได้หลักจากการทำไร่อ้อย ดังเช่นคำสัมภาษณ์ของเกษตรกรที่กล่าวว่า “…ตั้งแต่ทำเกษตรผสมผสานปลูกผักหลายอย่าง เลี้ยงไก่ไข่ด้วย ก็ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการหาซื้อของได้เหมือนกัน อาจจะไม่ใช่จำนวนมากมายแต่อย่างน้อยเราก็ไม่ต้องไปหาซื้อข้างนอกเพราะเรา ไปเอาที่สวนที่เราปลูกมากินได้ โดยเฉพาะ ผัก ปลา และไข่ไก่ นี่ถือว่าเป็นอาหารหลักนะ (เกษตรกรชาวไร่อ้อย MPL: สัมภาษณ์, 2562)

ความสุขด้านสุขภาวะ คือ เกษตรกรมีความสุขอันเกิดจากการรับประทานอาหารที่ปลอดภัยด้วยความมั่นใจว่าไร้สารเคมี เพราะลงมือปลูกเองเลี้ยงเองทุกอย่าง โดยเน้นการทำเกษตรทฤษฎีใหม่แบบวิถีอินทรีย์ ดังคำที่ว่า “กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน” เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้กล่าวถึงความสุขประเด็นนี้ไว้ว่า เวลาทำอาหารเราก็เอาของที่สวนเรามาทำ โดยเฉพาะพวกผักเนี่ยถ้าซื้อข้างนอกเขาน่าจะใส่ยาเยอะ แต่ถ้าเราปลูกเองเราก็มั่นใจว่าปลอดภัยต่อสุขภาพแน่นอน(เกษตรกรชาวไร่อ้อย MPV: สัมภาษณ์, 2562)

ความสุขด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เป็นผลสำเร็จที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยภูมิใจต่อการจัดการและการออกแบบการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เป็นระบบตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ของตนเอง นอกจากนี้เกษตรกรชาวไร่อ้อยยังมีความสุขจากการลดใช้สารเคมี หันมาใช้สารอินทรีย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังเช่นการบอกเล่าของเกษตรกรชาวไร่อ้อยถึงประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความสุขไว้ดังนี้ รู้สึกว่าตนเองทำได้ คือ เดิมที่ปลูกแบบไม่ได้เข้าใจว่าต้องแบ่งสัดส่วน ต้องคิดวิเคราะห์พื้นที่ แต่พอได้ลองทำก็ทำให้เรารู้พื้นที่แค่ไม่ถึงไร่ก็ปลูกได้หลายอย่าง ปลูกผัก ผลไม้ สมุนไพร ข้าว ทำบ่อเลี้ยงปลา ทำเล้าไก่ และตรงพื้นที่ปลูกผักก็หมุนเวียนปลูกได้เรื่อย ๆ ทำให้รู้สึกภูมิใจมาก(เกษตรกรชาวไร่อ้อย MDC: สัมภาษณ์, 2562)

ความสุขด้านสังคม คือ การที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับความสุขอันมาจากการได้แบ่งปันผลผลิตการเกษตรกันภายในชุมชน รวมทั้งการได้แบ่งปันและถ่ายทอดองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งความสุขด้านสังคมที่เกิดขึ้นสามารถสะท้อนถึงสัมพันธภาพที่ดีภายในกลุ่มเกษตรกรชาวไร่อ้อยด้วยกันเอง ตลอดจนความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงไปยังภาคีเครือข่ายภายนอกในบทบาทของเกษตรกรต้นแบบและปราชญ์ด้านเกษตรทฤษฎีใหม่ ความสุขด้านนี้ยังเผื่อแผ่มาถึงพี่น้องเจ้าหน้าที่ของมิตรผลด้วยนะคะ ถ้าสังเกตุดี ๆ จะเห็นได้ว่าช่วง 2 ปีมานี้ เจ้าหน้าที่มิตรผลหลายคนสุข“สมบูรณ์”ขึ้น ก็เพราะผักผลไม้จากพี่น้องเกษตรกรในโครงการนี่เองค่ะ ดังเช่นการบอกเล่าของเกษตรกรชาวไร่อ้อยถึงการแบ่งปันผลผลิตให้กับผู้อื่นที่ว่า นอกจากเราจะปลูกไว้กินเอง เรายังแบ่งให้ญาติ ๆ กับเพื่อนบ้านให้เขาได้กินด้วย และถ้าหัวหน้า (เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน) เข้ามาหาเราก็จะแบ่งให้ไปกินโดยเฉพาะพวกผลไม้ ฝรั่ง(เกษตรกรชาวไร่อ้อย MPV: สัมภาษณ์, 2562)

ความสุขด้านจิตใจ การเข้าร่วมโครงการของเกษตรกรชาวไร่อ้อยก่อให้เกิดความสุขทางจิตใจและความรู้สึกในมุมมองที่เป็นความสุขจากการตระหนักรู้และเข้าใจในความพอเพียง ส่งผลให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความสุขบนพื้นฐานการทำเกษตรอย่างมีเหตุผลและความคุ้มกัน รวมถึงความสุขที่เกิดจากการกลับมาอยู่ร่วมกันของลูกหลานเกษตรกร มาช่วยกันทำเกษตรในพื้นที่ตนเอง ดังเช่นทัศนะของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่กล่าวว่าทำได้เท่าที่ทำ ไม่ฝืน และทำตามศักยภาพที่ตนเองมี มันเป็นความพอเพียง คือ เรามีที่ดินทำอยู่ 3 ไร่ เราก็จะแค่นี้ และไม่ขยายเพราะแรงงานเราทำกันเอง 2 คนผัวเมีย นี่ก็คือทำตามความพอเพียงของตนเอง(เกษตรกรชาวไร่อ้อย MKS: สัมภาษณ์, 2562)

โครงการทำตามพ่อ-003.jpg

จากการสอบถามเกษตรกรในโครงการเราพบว่าครัวเรือนเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการร้อยละ 80 มีความสุขมากขึ้น โดยความสุขในระดับครัวเรือนที่เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ได้แก่ การลดรายจ่าย การพึ่งพาตนเองในการผลิตอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งการละเลิกอบายมุข อันเป็นผลจากการพัฒนาแนวคิดสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เกิดขึ้นของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการ

เมื่อดูตาม 5 มิติพบว่า เกษตรกรมีความสุขในมิติด้านจิตใจมากที่สุด รองลงมา คือ มีความสุขในด้านสุขภาวะ ซึ่งมีร้อยละค่าเฉลี่ยต่อคะแนนเต็มเท่ากับ ร้อยละ 84.0 และ 80.0 ตามลำดับ

โครงการทำตามพ่อ-004.jpg

จากผลประเมินความสุขทั้ง 5 มิติของเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เข้าร่วมโครงการทำตามพ่อ ปลูกเพ(ร)าะสุข พี่น้องมิตรชาวไร่คงเห็นแล้วว่า ความสุขทั้ง 5 มิติที่เกิดขึ้น มาจากความมุ่งมั่นตั้งใจ สะสมองค์ความรู้จากการฝึกอบรมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ จนนำไปสู่การปฏิบัติของพี่น้องมิตรชาวไร่ โดยใช้หลักเกษตรทฤษฎีใหม่ร่วมกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง การรู้จักประมาณตน วางแผนการผลิตตามศักยภาพและทุนที่มีอยู่ ทั้งในด้านความเหมาะสมของพื้นที่ที่ต้องการเพาะปลูก ความเหมาะสมของแรงงานในครัวเรือนที่เป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร ตลอดจนความสามารถวางแผนและปรับระบบการผลิตที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีภูมิคุ้มกันที่ดีของเกษตรกรชาวไร่อ้อยนั่นเอง.

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

ข่าวปักหมุด