- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- พ., 8 เม.ย. 63
ในปี 2564 นี้ ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ (Aged Society) นั่นคือ มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งสถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการแพทย์ ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น
ผลที่ตามมาจากการที่อายุมากขึ้น นั่นคือการมีโรคภัยต่าง ๆ มารุมเร้า และอีกหนึ่งโรคที่มีความน่ากลัวนั่นคือ โรคอัลไซเมอร์ (โรคอัลไซเมอร์พบมากถึง 60 – 80% ของโรคสมองเสื่อม) ซึ่งหากมีตรวจพบว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ผู้ป่วยจะมีชีวิตอยู่ได้อีก 7 – 10 ปี โดยพบว่าคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคสมองเสื่อม 10% ส่วนคนอายุ 85 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม 40 – 50% ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคสมองเสื่อม มีเพียงแค่ยาชะลอเท่านั้น
สำหรับคนที่ใช้สมองอยู่เรื่อย ๆ พบว่าสมองจะเสื่อมช้ากว่าคนที่ไม่ได้ใช้สมองคิดอะไรเลย ซึ่งสามารถชะลอความเสื่อมของสมองโดยการเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำงาน โดยตอนนี้คนไทยเป็นโรคสมองเสื่อมประมาณ 1 ล้านคน คาดว่าในอีก 5 ปี จะเพิ่มเป็น 2 ล้านคน เพราะฉะนั้น เราต้องรู้เท่าทันโรคสมองเสื่อม เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคสมองเสื่อม กว่าจะรู้ตัวก็จำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว เพราะโรคสมองเสื่อมมีหลายแบบ บางคนมีภาวะสมองถดถอยแบบไม่รู้ตัว พอเกษียณหรือหยุดทำงานมีชีวิตได้อีก 1 – 2 ปีก็เสียชีวิตลง ดังนั้นคนสูงวัยจึงต้องหากิจกรรมทำหรือให้ทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมอง เช่น การอ่านหนังสือ การออกกำลังกาย และการฟังเพลงจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้
การอ่านหนังสือจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ เนื่องจากสมองถูกกระตุ้นอยู่สม่ำเสมอ ซึ่งหากเราเปรียบเทียบกับเครื่องจักรกล เมื่อมีการใช้งานอย่างสม่ำเสมอก็สามารถลดสนิมที่เข้ามาเกาะกินได้ สมองของเราก็เช่นกัน สำหรับใครที่เป็นคนรักการอ่านอยู่แล้วก็ถือเป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อม แต่หากคุณรู้สึกง่วงทุกครั้งที่อ่านหนังสือ แนะนำให้เริ่มโดยการอ่านบทความสั้น ๆ แล้วค่อยฝึกตนเองให้เป็นคนรักการอ่านมากขึ้น อาจจะเริ่มด้วยการอ่านหนังสือก่อนนอน จากบทความก็ค่อย ๆ ขยับเป็นหนังสือเรื่องสั้น ประโยชน์ของการอ่านหนังสือยังช่วยให้คุณหลับสบายขึ้น เพราะการอ่านหนังสือทำให้คุณมีสมาธิและใจเย็นลง การอ่านหนังสือในแสงนุ่ม ๆ อ่อน ๆ ก็ทำให้ร่างกายรู้ว่าถึงเวลาจะต้องพักผ่อนนอนหลับแล้ว ไม่ใช่ผู้สูงอายุทุกคนที่จะสมองเสื่อม ความเข้าใจที่ว่าภาวะความจำเสื่อม ความจำถดถอย และขี้หลงขี้ลืม เป็นเรื่องปกติที่จะต้องเกิดขึ้นเมื่อแก่ตัวลงสิ่งเหล่านี้เป็นความเข้าใจผิด สมองของเราไม่ได้เสื่อมสภาพไปตามอายุเสมอไปหากมีการดูแลบริหารสมองอยู่เป็นประจำ การหมั่นทำกิจกรรมที่สร้างเซลล์สมองให้เติบโต พยายามเข้าสังคมพูดคุยมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรืออ่านหนังสืออยู่เป็นประจำ สามารถช่วยเสริมสร้าง และยืดอายุสมองได้
นอกจากการอ่านหนังสือจะช่วยยืดอายุสมองแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่สามารถทำได้ เช่น การออกกำลังกาย การฟังเพลง การทำงานศิลปะ หรืองานฝีมือ เป็นต้น นอกจากนี้ อาหารก็เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันโรคสมองเสื่อม โดยอาหารที่ช่วยป้องกันโรคสมองเสื่อม เช่น อาหารที่อุดมไปด้วยโอเมก้า-3 อาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินซีและอี รวมทั้งอาหารที่มีโฟเลตสูง เป็นต้น
เชื่อว่าทุกคนคงรู้ว่าวันหนึ่งเราคงต้องถึงวัยผู้สูงอายุ ซึ่งเราก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ดังนั้นเพื่อการเตรียมรับมือให้พร้อม มิตรชาวไร่เองต้องมีการวางแผนการใช้ชีวิต หากิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองอย่างสม่ำเสมอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อให้ห่างไกลโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อม ถึงแม้เราจะเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ถึงวัย เกษียณตัวเอง แต่อย่าเกษียณสมอง ต้องมีการยืดอายุสมองต่อไป เราก็จะมีความสุขในวัยสูงอายุได้เช่นกัน
ขอบคุณที่มาและภาพ:
https://www.bangkokinternationalhospital.com/
https://www.paolohospital.com/