หน้าแรก

ฤดูแล้งเป็นช่วงที่ประชาชนได้รับปัญหาผลกระทบจากหมอกควันในอากาศมากที่สุดของปี ด้วยสภาพความแห้งของอากาศ กอปรกับเป็นช่วงหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เกษตรกรต้องเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกพืชผลและรอฝนในฤดูกาลถัดไป ทำให้ฝุ่นควันจากเดิมที่มีเพียงจาก จราจร อุตสาหกรรม การก่อสร้าง หรืออื่น ๆ มาผสมผสานกับการเผาวัสดุทางการเกษตร ทำให้ช่วงแล้งของทุกปีประสบปัญหานี้อย่างรุนแรง

ซึ่งหมอกควันจากเถ้าฝุ่นเหล่านี้ นอกจากบดบังทัศนียภาพแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ มีข้อมูลว่าสารมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน มักเป็นสารมลพิษที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิงต่าง ๆ เช่น เศษใบไม้ กิ่งไม้พืชผลทางการเกษตร น้ำมันเชื้อเพลิง ฯลฯ ได้แก่สารดังต่อไปนี้

ฝุ่นละออง (Particle Matter : PM)

ฝุ่นละออง หมายถึง อนุภาคของแข็งหรือของเหลวที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางโดยประมาณอยู่ระหว่าง0.001 ไมครอน (1 ไมครอน = 0.000001 เมตร) ซึ่งเป็นขนาดของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กจนถึง 500 ไมครอน ซึ่งเป็นขนาดของทรายหยาบ เวลาที่อนุภาคมลสารเหล่านี้จะสามารถแขวนลอยอยู่ในบรรยากาศมีค่าตั้งแต่ไม่กี่วินาทีจนถึงหลาย ๆ เดือนขึ้นอยู่กับขนาด นอกจากนี้อนุภาคมลสารจะเกิดปฏิกิริยาเคมีกับสารอื่น ๆ ได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของอนุภาคมลสารและสารเคมีที่จับอยู่บนอนุภาคมลสาร ทำให้เกิดเป็นสารประกอบที่สามารถกัดกร่อนโลหะหรือเป็นอันตรายต่อพืชต่าง ๆ และยังมีผลกระทบต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของมนุษย์อีกด้วย ฝุ่นก่อให้เกิดผลกระทบได้ 3 ทาง คือ ฝุ่นเป็นพิษ เนื่องจากองค์ประกอบทางเคมีหรือลักษณะทางกายภาพฝุ่นเข้าไปรบกวนระบบหายใจ และฝุ่นเป็นตัวพาหรือดูดซับสารพิษแล้วพาเข้าสู่ร่างกาย หากสูดฝุ่นละอองเล็กเข้าสู่ร่างกายจะเกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ตั้งแต่อาการไอ จาม มีน้ำมูก จนถึงการอักเสบของไซนัส เจ็บคอ หายใจลำบาก ทำให้หลอดลมอักเสบ ปอดเป็นพังผืดจากการระคายเคืองเรื้อรัง และอาจเกิดโรคมะเร็งของระบบทางเดินหายใจ โดยฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีส่วนผสมของสารบางอย่าง เช่น สารกัมมันตรังสีสารอาเซนิก สารโครเมท เมื่อสัมผัสกับเนื้อปอดจะทำให้เป็นมะเร็งปอดได้

shutterstock_2263093229.jpg

ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ (CO)

ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) เป็นก๊าซไม่มีสีและกลิ่น สามารถคงตัวอยู่ในบรรยากาศได้นาน 2 ถึง 4 เดือน โดยเกิดจากการเผาไหม้ของสารจำพวกถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และการเผาไหม้ในสถานที่ที่มีออกซิเจนปริมาณน้อย เมื่อก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายทางระบบหายใจจะเป็นพิษต่อร่างกาย เพราะเข้าแทนที่ออกซิเจนในกระแสโลหิต ทำให้ร่างกายไม่สามารถใช้ก๊าซออกซิเจนได้ การหายใจเอาก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าไปในร่างกายทีละเล็กน้อยเป็นประจำ จะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ตาพร่า ความคิดสับสน ประสาทหลอน ร่างกายอ่อนแอ หัวใจเต้นถี่ การหายใจถี่ขึ้น และเป็นลมหมดสติ ถ้ามีอาการมาก ๆ จะมีอาการชักกระตุก หัวใจเต้นอ่อนลง การหายใจช้าลง และเสียชีวิตได้ กรณีที่ได้รับก๊าซพิษนี้ปริมาณสูงในทันทีทันใด จะทำให้มีอาการเริ่มแรกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก่อนที่จะหมดสติและเสียชีวิต โดยไม่สามารถช่วยตัวเองได้ สภาพศพผู้เสียชีวิตเนื่องจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จะมีสีซีด ต่อมาจะเริ่มมีสีแดง โดยเฉพาะที่ริมฝีปากและใบหู ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์มิได้เป็นก๊าซที่สะสมในร่างกายเหมือนพวกโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แมงกานีส ดังนั้น หลังจากที่ได้รับก๊าซนี้ในปริมาณไม่มาก ร่างกายสามารถกำจัดออกจากกระแสโลหิตได้ภายใน 8-10 ชั่วโมง

ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นก๊าซที่ไม่มีสีซึ่งหากหายใจเอาก๊าซนี้เข้าไปในปริมาณมาก ๆ จะรู้สึกเปรี้ยวที่ปาก เกิดการระคายเคืองที่จมูกและคอ โดยเกิดขึ้นได้หลายลักษณะ เช่น ภูเขาไฟระเบิด การหายใจของสิ่งมีชีวิต หรือการเผาไหม้ของสารประกอบอินทรีย์ ก๊าซนี้เป็นวัตถุดิบสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงของพืช เพื่อใช้คาร์บอนและออกซิเจนในการสังเคราะห์คาร์โบไฮเดรต จากกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงนี้พืชจะปล่อยก๊าซออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศ ทำให้สัตว์ได้ใช้ออกซิเจนนี้ในการหายใจ การใช้คาร์บอนไดออกไซด์ของพืชนี้ เป็นการลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซหนึ่งที่เป็นสาเหตุของปรากฏการณ์เรือนกระจก

ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2)

ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซมีสีน้ำตาลแดง มีกลิ่นฉุนเฉพาะตัว น้ำหนักโมเลกุล 46.01 ความหนาแน่น 1.58 และจุดเดือด 21.2 องศาเซลเซียส ละลายน้ำได้เล็กน้อย เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำได้กรดไนตรัส และกรดไนตริก ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง โดยสามารถเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ได้แก่ ฟ้าผ่า ฟ้าแลบ ภูเขาไฟระเบิด ปฏิกิริยาของจุลินทรีย์ในดิน หรืออาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การเผาผลาญเชื้อเพลิง การอุตสาหกรรม การทำกรดไนตริก กรดกำมะถัน การชุบโลหะ และการทำวัตถุระเบิด เป็นต้น โดยก๊าซนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการหายใจโดยตรง หรือในรูปไอระเหยของละอองกรดไนตริกหรือไนตรัส หลังจากที่ก๊าซรวมตัวกับละอองน้ำหรือความชื้นแล้ว ทำให้เกิดการระคายเคืองอย่างรุนแรงต่อระบบทางเดินหายใจ ตา จมูก เยื่อเมือก และผิวหนังที่สัมผัส การสัมผัสที่ความเข้มข้นต่ำ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้เกิดสีเหลืองที่ผิวหนังและฟัน ถ้าได้รับความเข้มข้นสูงจะทำให้ระคายเคืองที่ปอดอย่างรุนแรง และเกิดเมทฮีโมโกลบินในเลือด ซึ่งคาดว่าเกิดจากก๊าซทั้งสองชนิด การเกิดพิษเฉียบพลันทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ผิวหนังเป็นสีเขียวคล้ำจากการขาดออกซิเจน ไอ หายใจขัด หายใจลำบาก เป็นไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน และอาจถึงตายได้ ในกรณีที่ความเข้มข้นต่ำอาจระคายเคืองหลอดลม มีอาการปอดบวมน้ำ และเกิดรอยโรคเรื้อรังได้ การสัมผัสกับของเหลวจะทำให้เกิดการกัดกร่อนรุนแรงต่อตา และผิวหนัง

สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs)

สารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) พบในเขม่าควันไฟ ไอเสียของเครื่องยนต์ น้ำมันดิบ นอกจากนี้ยังเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของสารอินทรีย์ เช่น ไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ น้ำมัน และไฮโดรคาร์บอนชนิดอื่น ๆ ดังนั้น จึงพบสารชนิดนี้ในส่วนที่ไหม้เกรียมของอาหารปิ้งย่าง อาหารทอดกรอบ อาหารรมควัน นอกจากนี้ยังพบสาร PAHs คล้ายคลึงกับการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ บุหรี่ และเตาเผาเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม โดยเป็นสารพิษที่ค่อนข้างร้ายแรงมาก ส่วนใหญ่เป็นสารเริ่มต้นของสารกลายพันธุ์ (Premutagen) และสารเริ่มต้นของสารก่อมะเร็ง (Precarcinogen) ซึ่งได้รับการยอมรับว่าทำให้เกิดมะเร็งในคนได้ ถ้าได้รับการสัมผัสทางผิวหนังก็จะเป็นมะเร็งที่ผิวหนัง ถ้าได้รับการสูดดมเข้าไปก็จะเป็นมะเร็งที่ปอด จากการศึกษาของ ดร.ทิพวรรณ  ประภามณฑล นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยด้านมลภาวะและอนามัยสิ่งแวดล้อม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่เขตนอกเมืองสูงกว่าพื้นที่ในเมือง 2-3 เท่า ที่สำคัญจากการตรวจปัสสาวะของผู้ที่อาศัยอยู่นอกเมือง ยังพบว่าได้รับสาร PAHs หรือสารพิษที่เกิดจากการเผามากกว่าผู้ที่อยู่ในเมือง และหากเป็นผู้ที่อยู่อาศัยในจุดที่มีไฟป่า จะพบว่าปัสสาวะมีสาร PAHs สูงกว่าคนทั่วไปถึง 13 เท่า

ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)

ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์  (SO2) เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่ไวไฟ ที่ระดับความเข้มข้นสูงจะมีกลิ่นฉุนแสบจมูก เมื่อทำปฏิกิริยากับก๊าซออกซิเจนในอากาศจะเป็นซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และจะรวมตัวเป็นกรดกำมะถันเมื่อมีความชื้นเพียงพอ หากอยู่ร่วมกับอนุภาคมวลสารที่มีตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น แมงกานีส เหล็ก และวาเนเดียม จะเกิดมีปฏิกิริยาเติมออกซิเจนเกิดเป็นซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ และเป็นกรดกำมะถันเช่นกัน การสันดาปเชื้อเพลิงเพื่อใช้พลังงานในการดำรงชีพของมวลมนุษย์ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และอนุภาคมลสาร กระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็เป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทั้งสองเช่นกัน ก๊าซซัลเฟอร์ไตรออกไซด์ และละอองกรดกำมะถันก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง รวมทั้งมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูก เสียงแหบ แสบจมูก หายใจลำบาก เท้าบวม เหนื่อยง่าย ฯลฯ นอกจากนี้ก๊าซนี้ยังทำให้น้ำฝนที่ตกลงมามีสภาพความเป็นกรดมากขึ้น ซึ่งจะทำลายระบบนิเวศ ป่าไม้ แหล่งน้ำ สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมถึงการกัดกร่อนอาคารและโบราณสถานอีกด้วย

โอโซน (O3)

ก๊าซโอโซน (O3) โอโซนเป็นสารโฟโตเคมีคอลออกซิแดนท์ประเภทหนึ่ง ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาเคมี Photochemical Oxidation ระหว่างสารประกอบไฮโดรคาร์บอนและก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน โดยมีแสงแดดเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา สารโฟโตเคมีคอลตัวอื่น ๆ ได้แก่ สารประกอบพวกอัลดีไฮด์คีโตน และ Peroxyacetyl Nitrate (PAN) ก่อให้เกิดสภาพที่เรียกว่า Photochemical Smog ซึ่งมีลักษณะเหมือนหมอกสีขาวปกคลุมอยู่ทั่วไปในอากาศ โดยทั่วไปแล้วก๊าซโอโซนจะก่อให้เกิดการระคายเคืองตา และระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ลดความสามารถในการทำงานของปอด

สารมลพิษทางอากาศ-003.jpg

สารมลพิษทางอากาศและผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหาหมอกควันดังกล่าวข้างต้น คืออันตรายที่ค่อย ๆ แทรกซึมเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ ปัญหาระยะสั้นเราอาจแค่รู้สึกรำคาญ แต่ระยะยาว ฝุ่นควันเหล่านี้ถูกสะสมในร่างกายเราเรื่อย ๆ จนสุดท้ายอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ค่ะ

ขอบคุณที่มา:

http://hia.anamai.moph.go.th/download/hia/manual/book/book43.pdf

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/795735

https://www.thaipost.net/main/detail/33319

 

ข่าวปักหมุด