หน้าแรก

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากระลอกแรกถึงระลอกที่ 3 กระทบเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ อีกทั้งการระบาดระลอก 3 เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและกระจายตัวทั่วประเทศ

คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า การฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็วและต้องฉีดให้ได้ 70% ของประชาชนทั่วประเทศ เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งภาคเอกชนพร้อมจับมือภาครัฐเพื่อให้ฉีดวัคซีนได้ตามเป้าหมาย เพื่อกระตุ้นให้ระบบเศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วและเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดประเทศ

ซึ่งภาคเอกชนเองพร้อมจัดหาวัคซีนทางเลือกเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล โดยพร้อมออกเงินค่าซื้อและค่าฉีดวัคซีน ขอเพียงรัฐเปิดทางให้สามารถนำเข้าวัคซีนได้

นี่จึงเป็นที่มาของการประชุมระหว่างหอการค้าไทยกับประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ 45 บริษัทใหญ่ ทุกกลุ่มธุรกิจ ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2564 ที่ผ่านมา

CEO ที่เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ อาทิ คุณศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , คุณฐาปน สิริวัฒนภักดี  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)  คุณอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, คุณรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG , คุณพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี  กรรมการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท สิงห์เอเชียโฮลดิ้ง จำกัด , คุณสราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ที.ซี.ฟาร์มาซูติคอล อุตสาหกรรม จำกัด , คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการบริหารบริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด เป็นต้น

นับเป็นครั้งแรกที่ CEO แถวหน้าของเมืองไทยจำนวนมาก รวมตัวกันเพื่อร่วมแก้วิกฤติชาติ เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า และบทสรุปครั้งนี้คือ พร้อมซื้อวัคซีนทางเลือกรวม 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ครอบครัว  พนักงานบริษัท และประชาชนเกือบ 1 ล้านราย ซึ่งผลจากการประชุมทำให้หอการค้าไทยและเครือข่าย แบ่งงานออกเป็น 4 ทีม เพื่อสนับสนุนการฉีดวัคซีนและแบ่งเบาภาระรัฐบาล ได้แก่ 

1.TEAM A : Distribution and Logistics ทีมสนับสนุนการกระจายและฉีดวัคซีน ช่วยสนับสนุน สถานที่ บุคลากร อาสาสมัคร และอุปกรณ์ไอที เช่น คอมพิวเตอร์ ปรินเตอร์ เครื่องอ่านบัตรประชาชน ให้กรุงเทพมหานคร เพิ่มจากโรงพยาบาลรัฐและเอกชน 

ขณะนี้ภาคเอกชนได้ลงพื้นที่สำรวจกับกรุงเทพมหานครระยะแรก 10 พื้นที่รองรับการฉีดวัคซีน “แอสตราเซเนกา” ที่ไทยจะได้รับเดือน มิ.ย.นี้ เบื้องต้นมีเอกชนนำร่อง เช่น กลุ่มเซ็นทรัล ,SCG ,เดอะมอลล์ ,สยามพิวรรธน์ ,เอเชียทีค ,โลตัส ,บิ๊กซี ,ทรูดิจิทัลพาร์ค และในระยะถัดไปจะมีการหารือในการจัดทำหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ไปแต่ละจุดเพื่อลดการเดินทางของประชาชน โดยหอการค้าไทยและเครือข่ายภาคเอกชน จะช่วยสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนที่ภาครัฐจัดซื้อมา ให้เกิดประสิทธิภาพและทั่วถึงมากที่สุด

2.TEAM B : Communication ทีมการสื่อสาร เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและมาฉีดวัคซีนในสถานที่ที่พร้อม เพราะปัจจุบันหลายคนยังไม่เข้าใจเรื่องการฉีดวัคซีน หลายคนไม่ยอมฉีด ดังนั้น ต้องทำความเข้าใจ ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ทั้งนี้ ภาครัฐจะทำระบบ “หมอพร้อม” เสร็จสิ้นในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะระบุสถานที่ลงทะเบียนฉีดวัคซีน การจัดคิวการฉีดที่ไม่หนาแน่น หรือลำดับการฉีดที่เหมาะสม โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายบริษัท เช่น Google, LINE, Facebook, VGI และ Unilever

3.TEAM C : IT Operation ทีมเทคโนโลยีและระบบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการลงทะเบียน ขั้นตอนในการฉีดที่รวดเร็ว และมีระบบการติดตามตัว พร้อมสามารถออกใบรับรองการฉีดวัคซีนได้ โดยมีหลายบริษัท นำทีมโดย IBM เข้ามาสำรวจและปรับปรุงกระบวนการ

4.TEAM D : Extra Vaccine procurement ทีมจัดหาวัคซีนเพิ่มเติม ร่วมกับภาครัฐและเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน โดยจะไปสำรวจความต้องการฉีดวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาล และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วมากขึ้น นำโดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งได้มีการหารือกันแล้ว ประเมินว่า ยังต้องการวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุม 70% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งวัคซีนทางเลือก ได้แก่ 

  • สหรัฐวัคซีน Moderna และ Pfizer 
  • จีนวัคซีน Sinopharm และ CanSino Biologics 
  • อินเดียวัคซีน COVAXIN จากบริษัท Bharat Biotech 
  • รัสเซียวัคซีน Sputnik V

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดของการจัดหาวัคซีนทางเลือกของภาคเอกชน เบื้องต้นภาคเอกชนได้มีการประสานกับรัฐวิสาหกิจของจีนที่เป็นตัวแทนของรัฐบาลจีนในการส่งออกวัคซีน Sinopharm ซึ่งทางรัฐวิสาหกิจดังกล่าวได้มีการเสนอราคามาแล้วพร้อมกับจำนวนที่จะจัดส่งให้ไทยได้กว่าล้านโดส 

อย่างไรก็ตามการนำเข้าวัคซีนทางเลือกมีขั้นตอนหลายอย่าง โดยจะต้องเป็นการนำเข้าในนามภาครัฐที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย รวมถึงการขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 กับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 เดือน

ผนึกกำลังหน่วยงานรัฐและเอกชน-01.png

นับเป็นข่าวดีที่ผู้นำภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ของประเทศกว่า 45 แห่ง ได้ออกมาแสดงบทบาทและระดมสมองพร้อมสรรพกำลัง เพื่อร่วมกันกู้วิกฤติชาติจัดหาและฉีดวัคซีน ซึ่งมิตรผลเอง คือหนึ่งในทีมงานคุณภาพ ที่พร้อมจะพาประเทศไทยก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.bangkokbiznews.com/

https://www.matichon.co.th/

https://www.xinhuathai.com/

 

 

ข่าวปักหมุด