หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกคน ผ่านไปแล้วกับการฉลองเทศกาลสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยที่แสนชุ่มฉ่ำ แม้ปีนี้อากาศจะร้อนกว่าทุกปีที่ผ่านมา แต่บรรยากาศของการเล่นน้ำสงกรานต์ของไทยในแต่ละจังหวัดต่างคึกคักและสนุกสนานสร้างเม็ดเงินสะพัดทั่วทั้งประเทศ

แต่สิ่งที่ตามมาจากกิจกรรมที่ผู้คนหลั่งไหลมารวมตัวกันจำนวนมากนั้น คงหนีไม่พ้นโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะโรคโควิด-19 ที่ถึงแม้ว่าในปัจจุบัน ผู้ป่วยติด โควิด-19 จะมีอาการไม่รุนแรงเท่ากับในอดีตโดยถูกจัดให้เป็นโรคประจำฤดูกาลไปแล้วก็ตาม แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังคงติดตามรายงานติดตามสถานการณ์ของโควิด-19 ต่อเนื่อง 

ทั้งนี้กรมควบคุมโรคเปิดเผยถึงสถานการณ์โควิด-19 ก่อนสงกรานต์พบว่า คนไทยป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีผู้ติดเชื้อรวม 846 ราย ป่วยหนักปอดอักเสบ 242 ราย เสียชีวิต 4 ราย

นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์ปีนี้กลับมามีกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก เช่น การสังสรรค์ในครอบครัว รดน้ำขอพรผู้ใหญ่ โดยเฉพาะการเล่นน้ำสงกรานต์ที่มีการจัดในหลายพื้นที่ หลังงดเว้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 มาหลายปี ซึ่งระหว่างทำกิจกรรมมีการใกล้ชิดและไม่ได้สวมหน้ากาก จึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อและทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ได้ ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ โดยสถานการณ์สัปดาห์ล่าสุด วันที่ 9-15 เมษายน 2566 พบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาในโรงพยาบาล 435 ราย เฉลี่ยวันละ 62 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 30 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 19 ราย และผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งรับวัคซีนเข็มกระตุ้นนานเกินกว่า 3 เดือนแล้ว 

003.jpg

ข้อแนะนำประชาชนหลังเทศกาลสงกรานต์ ให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้วางแนวทางป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 สำหรับประชาชน 3 มาตรการ คือ

  1. ทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกัน จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี สามารถรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) ซึ่งยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รับวัคซีนแล้วไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ โดยกรมควบคุมโรคได้จัดส่งวัคซีนและ LAAB ให้สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไว้ฉีดประชาชนอย่างเพียงพอ  
  2. สวมหน้ากากในที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย
  3. ให้ตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่มีคนจำนวนมาก หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาในโรงพยาบาล สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้หากมีสมาชิกในครอบครัว เพื่อน หรือญาติ ที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกในช่วง 1-2 สัปดาห์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคต่อไปค่ะ

ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ

https://www.thansettakij.com/

https://www.hfocus.org/

https://www.thairath.co.th/

https://www.thairath.co.th/

ข่าวปักหมุด