สำหรับมนุษย์เอง น้ำเป็นส่วนประกอบที่มีมากที่สุดในร่างกาย เป็นส่วนประกอบของส่วนต่าง ๆ เช่น เลือด น้ำเหลือง รวมถึงอวัยวะต่าง ๆ นั่นแสดงว่า น้ำ เป็นสิ่งที่ร่างกายมนุษย์ขาดไม่ได้
อ้อยเองก็เช่นเดียวกัน อ้อยต้องการน้ำตลอดเวลาช่วงการเพาะปลูกประมาณ 1,500-1,600 มิลลิเมตรต่อไร่ ซึ่งหากการปลูกอ้อยไม่มีแหล่งน้ำสำรอง พึ่งพาน้ำจากฝนอย่างเดียว ไม่เพียงพอแน่นอน เพราะข้อจำกัดของฝนที่ตกในแต่ละปีตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน เฉลี่ยปยู่ที่ 1,000-1,2000 มิลลิเมตรต่อปี ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศแต่ละปีด้วย ปีไหนแล้งจัดปริมาณฝนยิ่งลดน้อยลงไปอีก
ดังนั้นชาวไร่จึงจำเป็นต้องบริหารจัดการระบบน้ำชลประทานมาเสริมอ้อย เติมเต็มในส่วนที่ขาดหายไป เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับบำรุงอ้อยตลอดฤดูกาล
วันนี้มิตรผลจะขอพูดถึงการจัดการระบบน้ำชลประทานที่เป็นที่นิยมกันมาก นั่นคือ การขุดบ่อบาดาล ซึ่งโดยปกติแล้วการขุดบ่อบาดาลมีหลายขนาด ยกตัวอย่างเช่น หากมิตรชาวไร่มีพื้นที่ไร่อ้อย 10 ไร่ บ่อบาดาลที่จะขุดควรมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 100-200 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำที่อยู่ในบ่อต้องมีอัตราการไหล ไม่ต่ำกว่า 6-7 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง ถึงจะเพียงพอครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกอ้อย 10 ไร่ บ่อบาดาลที่มีอัตราการไหลมากกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง สามารถครอบคลุมพื้นที่ได้ 20-30 ไร่ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการขุดบ่อบาดาลมีปัจจัยที่มิตรชาวไร่ควรคำนึงถึง หากจะทำให้มีน้ำใช้ได้ในระยะยาวไม่แห้งภายในเวลาอันรวดเร็ว ต้องขุดบ่อบาดาลแท้ โดยต้องขุดบ่อที่ความลึก 80 เมตร หากขุดบ่อตื้นเกินไปไม่ถึง 80 เมตร แล้วเจอน้ำ บ่อชนิดนี้จะเรียกว่า บ่อบาดาลเทียม ซึ่งน้ำจะหมดไปจากบ่อภายในระยะเวลาไม่นานนัก
บ่อเปิด นิยมขุดในภาคอีสาน ข้อดีคือ ประหยัด เจาะง่าย เจาะเพียง 10 เมตร ด้วยการใส่ท่อพีวีซีกันพัง แล้วเจาะทะลวงลงไป ราคาค่าดำเนินการเมตรละ 1,000 เฉลี่ยราคา 35,000 ต่อหนึ่งบ่อ
บ่อปิด ส่วนมากพื้นที่ภาคกลางจำเป็นต้องขุดบ่อบาดาลประเภทนี้ เนื่องจากในชั้นดินมีชั้นโคลนหรือทรายที่สไลด์แทรกเข้ามา ในการเจาะต้องใส่ท่อเพื่อกันดินไหลเข้าท่อ ป้องกันบ่อตัน วิธีนี้ทำยาก และราคาสูง เฉลี่ยราคาอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเมตร
เมื่อขุดบ่อบาดาลเรียบร้อยแล้ว วิธีสูบน้ำบาดาลสำหรับใช้งานในไร่ ต้องพิจารณาดูความเหมาะสม หลายคนคิดว่าสูบน้ำบาดาลใช้ปั๊มหอยโข่งสูบได้ทุกที่ เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากปั๊มหอยโข่งมีข้อจำกัดสูบได้ในระยะที่ตัวปั๊มกับแหล่งน้ำห่างกันไม่เกิน 8 เมตร ถ้าระยะของแหล่งน้ำไกลมากกว่านี้ ต้องใช้ปั๊มจุ่มหรือซับเมอร์ส ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้า ปัญหาตามมาคือ จุดที่ไม่มีแหล่งไฟฟ้า มิตรชาวไร่ต้องซื้อเครื่องปั่นไฟ หรือโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้กับเครื่องซับเมอร์สในขั้นตอนต่อไป
ครั้งหน้าเราจะนำวิธีผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้กับปั๊มสูบน้ำบาดาลมาแบ่งปันมิตรชาวไร่นะคะ ทั้งเครื่องปั่นไฟ และโซลาร์เซลล์ ไร่ไหนมองหาวิธีสร้างแหล่งไฟฟ้าให้ปั๊มน้ำ ต้องติดตามตอนต่อไปค่ะ
ที่มา : หนังสือสี่เสาพลัส