- เครื่องมือชาวไร่
- พฤ., 15 ธ.ค. 65
สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ ช่วงนี้ประเทศไทยหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักจากพายุเตี้ยนหมู่ที่มาจากทางเวียดนาม ส่งผลให้พี่น้องประชาชนพื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วม น้ำไหลหลากเฉียบพลัน สร้างความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวไทย ปลอดภัยและผ่านวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้ไปอย่างเข้มแข็งนะคะ
โดยปกติแล้วเดือนตุลาคม คือปลายฝนต้นหนาวของเมืองไทย ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของมิตรชาวไร่ที่ต้องลงมือปลูกอ้อยปลายฝนหรืออ้อยข้ามแล้ง เชื่อว่าหลายไร่คงเตรียมตัวพร้อมแล้วสำหรับการปลูกอ้อยฤดูกาลนี้ โดยเฉพาะไร่อ้อยสมัยใหม่ที่ทำไร่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ที่นำเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่อย่างเครื่องปลูกอ้อยมาช่วยงานในไร่อ้อยแทนแรงงานคน ซึ่งแน่นอนว่า ตัวช่วยมือหนึ่งสำหรับการปลูกอ้อยของมิตรชาวไร่ต้องยกให้ “เครื่องปลูกอ้อยร่องคู่”
เครื่องปลูกอ้อยร่องคู่มีลักษณะคล้ายกับเครื่องปลูกอ้อยทั่วไป แตกต่างกันที่หัวหมูในการแหวกเปิดดินเพื่อฝังกลบท่อนพันธุ์อ้อย ซึ่งเครื่องปลูกอ้อยตัวนี้มีลักษณะเป็นจานคู่ 2 ชุด เพื่อปลูกอ้อยร่องคู่ระยะห่างระหว่างร่อง 50 เซนติเมตร ตามมาตรฐานการปลูกแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม
ให้ใช้ท่อนพันธุ์ประมาณ 0.6-0.8 ตันต่อไร่ ให้จำนวนตา 6 ตาต่อเมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับสภาพการปลูกที่ดี แต่หากดินแห้งดินก้อนใหญ่ ไถไม่ละเอียด หรือท่อนพันธุ์มีคุณภาพต่ำ อาจต้องเพิ่มจำนวนท่อนพันธุ์และต้องระมัดระวังเพราะการใช้ท่อนพันธุ์มากเกินไปจะทำให้ท่อนพันธุ์ซ้อนเกยกัน เกิดช่องว่างรอบท่อนพันธุ์ ดินไม่แนบท่อนพันธุ์ ทำให้ตาไม่งอก จึงควรวางท่อนพันธุ์ให้ลึก 10-15 เซนติเมตรหรือกลบดินให้หนา 10-15 เซนติเมตร การกลบดินหนามากเกินไปอาจทำให้อ้อยงอกไม่ดี แต่หากดินก้อนใหญ่ หรือสภาพอากาศร้อนและแห้งอาจต้องกลบดินหนาถึง 20 เซนติเมตรเลยทีเดียว
ในการปลูกอ้อยต้องหมั่นตรวจสอบ เครื่องปลูกอ้อยให้ทำงานได้ดีอยู่เสมอ โดยหลังจากปลูกแถวแรกไป 10-15 เมตร ให้หยุดรถแทรกเตอร์ เพื่อตรวจสอบท่อนพันธุ์ที่ฝังกลบในดิน โดยกวาดดินออกจากแถวอ้อยให้เห็นท่อนพันธุ์ แล้วตรวจสอบว่าท่อนพันธุ์ลงเพียงพอหรือไม่ (6 ตาต่อเมตร) และต้องตรวจสอบความลึกของท่อนพันธุ์หากจำเป็นสามารถปรับความลึกของเครื่องปลูกได้ ตรวจสอบจำนวนตาและความลึกของท่อนพันธุ์อีกครั้งทุก ๆ 15 นาที หากยังพบปัญหาให้หยุดปลูกและปรึกษาช่างทันทีค่ะ
นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบความยาวของท่อนพันธุ์ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่ามี 2-3 ตาต่อหนึ่งท่อนและดูว่าท่อนพันธุ์แตกหรือฉีกขาดโดยใบตัดของเครื่องปลูกหรือไม่ และต้องตรวจสอบถังใส่ปุ๋ยว่าท่อส่งปุ๋ยตันหรือไม่ด้วย โดยคนขับรถแทรกเตอร์และคนงานเสียบอ้อยต้องดูให้แน่ใจว่าปุ๋ยลงดีและสม่ำเสมอหรือไม่
ขณะปลูกอ้อยยังมีข้อปฏิบัติปลีกย่อยที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ เช่น เริ่มงานแต่เช้าตรู่ ผลัดกันพักกินข้าวโดยไม่หยุดการทำงาน เตรียมท่อนพันธุ์ให้เต็มเทรลเลอร์และเตรียมเทรลเลอร์สำรองไว้ที่หัวแปลง ตรวจสอบและเติมปุ๋ยให้เต็มถังปุ๋ยทุกครั้งที่เปลี่ยนเทรลเลอร์ บำรุงรักษาเครื่องปลูกเมื่อเสร็จงานตอนเย็นให้พร้อมใช้งานได้ทันทีในวันรุ่งขึ้นโดยเครื่องปลูกอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่าเครื่องปลูกอ้อยแบบเดิม 2-3 เท่า เนื่องจากสามารถลดเวลาในแต่ละขั้นตอนของกิจกรรมได้มาก
การทำความสะอาดและกำจัดเชื้อโรคที่เครื่องปลูกอ้อยเป็นการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคอ้อยได้อีกทางหนึ่งหากมีการเคลื่อนย้ายเครื่องปลูกอ้อยไปปลูกแปลงอื่นหรือใช้ท่อนพันธุ์จากแหล่งใหม่ ให้ทำความสะอาดเครื่องปลุกทุกครั้งก่อนใช้งานใหม่ โดยนำรถแทรกเตอร์และเครื่องปลูกอ้อยทำความสะอาดในที่ร่ม ใช้การฉีดน้ำแรงดันสูง ล้างใบมีดและลูกยางเพื่อล้างน้ำอ้อยและเศษอ้อยออกให้เรียบร้อย
ไม่พลิกหรือเปิดหน้าดินให้ความชื้นภายในดินสูญเสียไป ที่สำคัญคือหากในพื้นที่หรือแปลงปลูกอ้อยของเรามีวัชพืช จานคู่นี้ก็จะเป็นตัวช่วยในการสับวัชพืชและสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยวัชพืชจะไม่ติด หรือพันที่หัวหมู รวมทั้งยังมีกระบะบรรทุกอ้อยที่มีความจุอ้อยเพิ่มมากขึ้นและสามารถถอดเปลี่ยนได้ทันที ลดเวลาในการเติมท่อนพันธุ์บ่อย ๆ และการต้องรอขึ้นพันธุ์อ้อยเมื่อพันธุ์อ้อยหมด แน่นอนว่าทำให้สามารถปลูกอ้อยเพิ่มมากขึ้นจากเดิมถึง 15-20 ไร่/วัน
สุดท้ายนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีเคล็ดลับการปลูกอ้อยให้ประสบความสำเร็จอีกประการหนึ่ง คือ ต้องปลูกให้ถูกเวลาโดยเฉพาะอ้อยปลายฝนนั้นต้องปลูกให้เร็ว จะทำให้อ้อยแตกกอมากกว่า มีพุ่มใหญ่กว่า เสี่ยงแช่น้ำน้อยกว่า มีความหวานสูงกว่า และให้ผลผลิตสูงกว่าด้วยเช่นกัน ที่สำคัญเราเชื่อว่าเครื่องปลูกอ้อยร่องคู่ จะช่วยตอบโจทย์มิตรชาวไร่ สำหรับการปลูกอ้อยในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างบ้านเรา ช่วยให้ปลูกอ้อยได้เร็วขึ้น มีคุณภาพ และจะช่วยรักษาความชื้นในดินให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มอัตราการงอกของอ้อยและเพิ่มผลผลิตให้แก่มิตรชาวไร่ค่ะ
ที่มา : หนังสือ Blueprint , วารสารมิตรชาวไร่