หน้าแรก

ในช่วงฤดูกาลหีบอ้อยเข้าโรงงาน ปัจจุบันการเผาใบอ้อยเพื่อตัดในพื้นที่แปลงปลูกของมิตรชาวไร่เริ่มลดน้อยลง เพราะมิตรชาวไร่เล็งเห็นความสำคัญของการตัดอ้อยสด ที่ได้ประโยชน์ทั้งไว้ใบคลุมดิน และสร้างรายได้จากการนำใบอ้อยที่เหลือบางส่วนขายเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลเข้าโรงงาน ซึ่งโดยปกติแล้วน่าจะเหลือใบอ้อยในไร่ประมาณ 1.5 - 3.0 ตัน/ไร่ ขายได้ในราคา 1,000 – 2,000 บาท/ไร่ เลยทีเดียว

ซึ่งปัจจุบันการเก็บใบอ้อยที่รุงรังหลังเก็บเกี่ยวทำได้ง่ายขึ้น เพราะเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการทำงานของเกษตรกรมากขึ้น สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการรวบรวมใบอ้อยนั้น เรียกว่าเครื่องอัดใบอ้อย มี 3 รูปแบบด้วยกัน คือ แบบม้วนกลม แบบสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก และแบบสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่

เครื่องอัดใบอ้อยแบบม้วนกลม เหมาะสำหรับไร่อ้อยขนาดกลาง มีปริมาณใบอ้อยที่สามารถ รวบรวมได้ประมาณ 530 ตันขึ้นไป ซึ่งจะมีผู้ลงทุนในรูปแบบนี้ จำนวนมาก เพราะใช้เงินลงทุนต่ำกว่ารูปแบบอื่น

แบบสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก เหมาะสำหรับผู้ปลูกอ้อยขนาดกลาง มีปริมาณใบอ้อยที่สามารถ รวบรวมได้ประมาณ 460 ตันขึ้นไป จะมีลักษณะก้อนอัดแน่นกว่าแบบม้วนกลมทำให้สามารถรวบรวมใบอ้อยได้ในปริมาณมาก

แบบสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่เหมาะสำหรับผู้ปลูกอ้อยขนาดใหญ่ มีปริมาณใบอ้อยที่ สามารถรวบรวมได้ประมาณ 2,000 ตันขึ้นไป การลงทุนในรูปแบบนี้ จะต้องใช้เงินลงทุนสูง และใช้วัตถุดิบใบอ้อยในปริมาณมาก จึงจะทำให้เกิดความคุ้มทุน อีกทั้งยังเหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ขนาดใหญ่ ในการลงทุนจึงควรมีการวางแผนและประมาณการปริมาณใบอ้อยที่ชัดเจน

Exposure-1.jpg

ตัวอย่างการใช้งานเครื่องอัดใบอ้อยของมิตรผล

ในส่วนของมิตรผลเอง เราใช้เครื่องอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลแบบก้อนสี่เหลี่ยม หรือ Square Balers นำเข้าจากประเทศเยอรมัน ยี่ห้อ CLAAS  รุ่น QUADRANT 4200 ราคาอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านบาท ทำงานร่วมกับเครื่องรวมกองเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Wheel Rake หลังจากเก็บเกี่ยวอ้อยด้วยรถตัดแล้ว จะมีใบอ้อยและยอดอ้อยเหลืออยู่ในแปลง ให้ใช้เครื่องรวมกองเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Wheel Rake ติดตั้งกับรถแทรคเตอร์ ขนาด 125 แรงม้า กวาดรวมกองใบอ้อยกับยอดอ้อยไปตามแนวร่องอ้อยให้ได้ 1 แถว หลังจากนั้นนำเครื่องอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวล หรือ Square Balers ติดตั้งกับรถแทรคเตอร์ ขนาด 155 แรงม้า วิ่งเก็บและอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลตามหลังรถแทรคเตอร์

ลักษณะก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลหลังจากอัดก้อนจะมีรูปร่างเป็นก้อนสี่เหลี่ยม มีเชือกมัดก้อน จำนวน 6 เส้น ขนาด กว้าง 120 เซนติเมตร สูง 70 เซนติเมตร สามารถปรับความยาวได้ตั้งแต่ 50-300 เซนติเมตร น้ำหนัก 100 – 500 กิโลกรัม/ก้อน ทั้งนี้ความยาวก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลที่อัดขึ้นอยู่กับประเภทของรถบรรทุกที่ใช้ขนส่ง

หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการขนส่ง ให้ใช้รถคีบ คีบก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลขึ้นรถบรรทุกแล้วขนส่งเข้าโรงงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อให้เชื้อเพลิงชีวมวลได้คุณภาพและไม่รบกวนขั้นตอนการบำรุงรักษาอ้อยตอ ขั้นตอนการรวมกองและอัดก้อนเชื้อเพลิงชีวมวลต้องดำเนินการภายใน 1 สัปดาห์หลังเก็บเกี่ยวอ้อยเสร็จเท่านั้น

จะเห็นว่า การใช้เครื่องอัดใบอ้อยทำเป็นก้อนเชื้อเพลิงส่งโรงงาน นอกจากโรงไฟฟ้าชีวมวลมีวัสดุใช้ได้ตลอดทั้งปี  มิตรชาวไร่เองก็มีรายได้เพิ่มจากการขายใบอ้อยอัดก้อน และยังสามารถช่วยลดฝุ่นละอองจากการเผาอ้อยได้อีกด้วย

ที่มาข้อมูล-ภาพ

http://sugar-asia.com/

https://kasettumkin.com/

http://mab.eco.ku.ac.th/

 

ข่าวปักหมุด