- เทคโนโลยีสมัยใหม่
- จ., 15 ก.ค. 62
สวัสดีค่ะเพื่อนมิตรชาวไร่ วันนี้มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจะพาทุกคนไปรู้จัก “เกษตรบนแผ่นฟิล์ม” (Film Farming) นวัตกรรมทางการเกษตรรูปแบบใหม่ของประเทศญี่ปุ่น ที่ได้แรงบันดาลใจมาตั้งแต่ยุคพลาสติกในศตวรรษที่ 19 โดยมี คุณยูอิจิ โมริ (Yuichi Mori) เป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมา
ลักษณะของเกษตรบนแผ่นฟิล์มคือ รากของพืชจะเกาะติดอยู่บนฟิล์ม รากสามารถดูดน้ำและสารอาหารจากด้านล่าง ฟิล์มนี้ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่าไฮโดรเจล ต่อให้จับมันพลิกคว่ำพืชก็ไม่หล่นร่วง โดยรากของพืชนั้น จะงอกบนฟิล์มแทนที่จะเป็นดิน ซึ่งแผ่นฟิล์มนั้นจะมีรูเล็ก ๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า รูเหล่านี้จะปล่อยให้น้ำ และสารอาหารผ่านได้ แต่กั้นไม่ให้เชื้อไวรัสและแบคทีเรียเข้าไป จึงเป็นข้อดีที่ทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลง นอกจากผักจะเติบโตได้ในทุกสภาพแวดล้อมแล้ว เทคนิคนี้ยังใช้น้ำน้อยลง ถึง 90% เมื่อเทียบกับการทำเกษตรบนดินแบบเดิม
โมริ เริ่มต้นด้วยการเพาะเมล็ดผักกาดหอมบนแผ่นฟิล์มไฮโดรเจล จากนั้นเขาเลือกปลูกมะเขือเทศ ซึ่งปัญหาคือ รากของพืชทั้งสองที่เขาเลือกทะลุแผ่นฟิล์ม จนเป็นรู เขาเริ่มหาทางเพิ่มความแข็งแรงให้แผ่นฟิล์มไฮโดรเจลอยู่หลากหลายวิธี และหันไปสนใจกับเทคโนโลยีการยืดฟิล์ม ซึ่งฟิล์มของโมริ ผลิตด้วยวิธีละลายไฮโดรเจล ตอนที่ยังไม่ได้แปรรูป โมริใช้เวลาอีก 2 ปี ในการพัฒนาฟิล์มใหม่ และสุดท้ายเขาก็ผลิตฟิล์มที่ปลูกมะเขือเทศเชอรี่ได้ ด้วยการปรับการเรียงตัวของโมเลกุลไฮโดรเจล อาจกล่าวได้ว่า “ฟิล์มปลูกพืชแผ่นแรกของโลกเสร็จสมบูรณ์แล้ว”
จากนั้นโมริก็เริ่มไปหาเกษตรกรเพื่อชวนให้มาทำเกษตรบนแผ่นฟิล์ม เขาจึงเดินทางมุ่งหน้าไปยังเมืองโอกินาวา หมู่เกาะทางใต้ ซึ่งมีอากาศกึ่งโซนร้อนแห่งเดียวในญี่ปุ่น ขณะเดียวกันที่บริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรมของจังหวัดโอกินาวา กำลังมองหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อทำการตลาด เจ้าหน้าที่คนหนึ่งสนใจแผ่นฟิล์มของยูอิจิ โมริ และอนุมัติเงินทุนให้ทำการเกษตรทดลอง จากนั้นเขาก็ลงมือปูฟิล์มหลายแผ่นทั่วกรีนเฮ้าส์ ตามด้วยการหว่านเมล็ดมะเขือเทศเชอรี่ และปล่อยให้เติบโตอยู่ 6 เดือน ด้วยความหวังที่ว่าจะได้มะเขือเทศเชอรี่ที่มีความหวานซึ่งฟิล์มเท่านั้นจึงจะทำได้
เมื่อฟิล์มไฮโดรเจลดูดซับความชื้นแล้ว ก็จะไม่ปล่อยความชื้นออกมามากนัก หมายความว่ามะเขือเทศเชอร์รีที่โตบนแผ่นฟิล์ม จะได้รับความชื้นน้อยกว่าที่ปลูกในดิน พืชที่กระหายน้ำจะมีปริมาณน้ำตาลในผลเพิ่มขึ้น เพื่อให้ดูดน้ำผ่านแรงดันออสโมติก (Osmotic Pressure) ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นแรงดันที่ทำให้น้ำเคลื่อนที่ไปหาจุดที่มีสารละลายความเข้มข้นสูงอย่างน้ำตาล
การทดลองสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 2006 เขาทดสอบระดับน้ำตาลในมะเขือเทศเชอรี่ ถ้ามะเขือเทศหวานกว่าลูกที่ปลูกในดินก็จะพิสูจน์ให้เห็นข้อดีของฟิล์ม ซึ่งผลที่ได้เป็นอย่างที่เขาคิดไว้ มะเขือเทศเชอร์รีมีปริมาณน้ำตาลอยู่ที่ราว 10% เทียบกับเมลอนซึ่งอยู่ที่ 12 % ตอนนั้นโมริก็ได้ตระหนักว่า เกษตรบนแผ่นฟิล์มได้ให้กำเนิดมะเขือเทศเชอร์รีที่หวาน ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน
ฟิล์มปลูกพืชของยูอิจิ โมริ ได้รับคำชมเชยอย่างมาก และเริ่มชนะใจเหล่าเกษตรกรทั่วประเทศ หลังจากนั้นเกษตรบนแผ่นฟิล์มก็ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิด นั่นคือ คลื่นสึนามิจากเหตุแผ่นดินไหวใหญ่ในภาคตะวันออกของญี่ปุ่นเมื่อปี ค.ศ. 2011 เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ดินและพื้นที่เกษตรกรรมเขตนี้ถูกทำลาย แต่ที่นี่ก็ยังสามารถปลูกมะเขือเทศเชอร์รีได้เพราะแผ่นฟิล์ม
ปัจจุบันเกษตรบนแผ่นฟิล์ม เริ่มกลายเป็นที่นิยมทั้งในและนอกญี่ปุ่น เช่น ไต้หวัน บราซิล และจีน เกษตรบนแผ่นฟิล์มช่วยให้คนที่ไม่มีความรู้ด้านการเพาะปลูกขั้นสูง สามารถปลูกพืชผักได้ ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นได้ใช้เทคโนโลยีนี้ เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่ไม่ชอบทำงานในพื้นที่โดยตรง แต่มีความสนใจในเทคโนโลยี ให้เข้ามาทำการเกษตร ถือเป็นความพยายามในการฟื้นฟูภาคธุรกิจที่มีจำนวนแรงงานลดลงอีกด้วย
ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ