หน้าแรก

สำหรับการทำเกษตรกรรม ดินถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของพืชที่เกษตรกรปลูก เพราะดินทำให้เราทราบความต้องการเบื้องต้นต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิด เช่น ปุ๋ย น้ำ หรือแม้แต่พันธุ์ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เป็นต้น

ปัญหาผลผลิตทางการเกษตรลดลง บางส่วนเกิดจากดิน คุณสมบัติของดินไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืช สาเหตุมาจากการเหยียบย่ำของเครื่องจักรที่มีน้ำหนักมากบ่อย ๆ การไถพรวนดินในชั้นความลึกเดิมซ้ำ ๆ สะสมเป็นเวลานานจากการทำกิจกรรมในไร่ต่อเนื่อง 3-5 ปี จนทำให้เกิดการบดอัดของดิน เกิดเป็นชั้นดินดานแข็งส่งผลต่อผลผลิตที่ลดลง ทำให้มีรายจ่ายในการจัดการพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในการปรับปรุงสภาพดิน

ซึ่งสภาพดินที่ถูกบดอัดเกิดเป็นชั้นดินดาน พืชบางชนิดอย่างอ้อยที่เราปลูกไม่ชอบดินประเภทนี้ เพราะอ้อยเป็นพืชที่่มีรากลึก 100 – 150 เซนติเมตร มีรัศมีการแพร่กระจายของราก 50-100 เซนติเมตร ดินดานมักพบในชั้นใต้ดินที่ความลึก 30-50 เ ซนติเมตร ทำให้ช่องว่างที่จะเก็บอากาศและน้ำน้อยลง น้ำซึมลงดินได้ช้า เกิดการท่วมขังของน้ำในไร่ ทำให้รากเน่า สิ่งมีชีวิตที่มีประโยชน์ในดินอย่างไส้เดือน ไม่สามารถอยู่รอดและเจริญเติบโตได้ในชั้นดินดาน ซึ่งระบบรากอ้อยตื้นไม่สามารถหยั่งรากลึกในการดูดกินธาตุอาหาร เกิดอาการแคระแกร็น

IMG_2956.JPG

ปัญหาความรุนแรงของการเกิดดินดานมีความรุนแรงที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ จากเดิมที่ต้องระเบิดดินดานทั่วทั้งแปลง ปัจจุบันเราสามารถใช้วิธีการระบุจุดการเกิดชั้นดินดาน เพื่อการบริหารจัดการได้โดยใช้เทคโนโลยี สร้างแผนที่ชั้นดินดานในรูปแบบ 3 มิติ โดยใช้หุ่นยนต์สำหรับเก็บตัวอย่างในพื้นที่ติดตั้งเพเนโทรมิเตอร์ (penetrometer) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับวัดการบดอัดของชั้นดินดาน จากนั้นแผนที่จะถูกสร้างขึ้น แสดงผลในรูปแบบของแผนที่การเกิดชั้นดินดาน 3 มิติ ที่มีความแม่นยำสูงและสามารถปรับการสำรวจการเดินของหุ่นยนต์และดูแผนที่ได้ทันที ผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ

การหาพื้นที่ชั้นดินดานด้วยเทคโนโลยี 3 มิตินี้ ได้ผลลัพธ์ที่มาจากการวิเคราะห์ที่แน่นอนและมีความถูกต้องสูง ทำให้การระเบิดดินดานมีความแม่นยำและลดค่าใช้จ่ายในการลงริปเปอร์ระเบิดดินดานได้

ในอนาคตตหากพี่น้องมิตรชาวไร่ต้องการยกเบด และเว้นระยะห่างระหว่างร่องอ้อย 1.85 เมตร เทคโนโลยีนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการลดการเหยียบย่ำของเครื่องจักรที่ทำงานในไร่ได้อีกทาง ทำให้น้ำหนักของเครื่องจักรไม่กระทบกับพื้นที่การเจริญเติบโตของอ้อยเหมือนที่ผ่านมา

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ เขียนโดย คุณบุษยา พรมทา เจ้าหน้าที่วางแผนกลยุทธ์กลุ่มงานอ้อย

http://siampod.com/

 

 

ข่าวปักหมุด