คำว่า “ทายาทเถ้าแก่ไร่อ้อย” ถูกใช้เรียกแทนลูกหลานที่เข้ามาสานต่องานในไร่แทนพ่อแม่ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ในอดีตหรือปัจจุบันมักจะเรียกผู้สืบทอดด้วยคำนี้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ลูกหลานชาวไร่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีและอินเตอร์เน็ต ทำให้คนรุ่นใหม่มีการแสวงหาข้อมูลข่าวสารและความรู้ใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งมีความคิด ความเชื่อ ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนหน้าอย่างสิ้นเชิง
เมื่อนำจุดแข็งด้านการเรียนรู้ และทักษะการนำเทคโนโลยีของทายาทรุ่นใหม่ มาผสานกับเทคนิคการทำไร่อ้อยจากพ่อแม่ ทำให้เถ้าแก่รุ่นใหม่กลายเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาไร่อ้อยแบบเดิมสู่การทำไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม ด้วยการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ใส่ไอเดียเข้าไปปรับใช้ให้เหมาะสมในไร่ของตนเอง ทำให้การทำไร่อ้อยเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างยั่งยืน
แต่ความสำเร็จดังกล่าวข้างต้น จะพึ่งพาแค่เทคโนโลยีหรือคนรุ่นใหม่อย่างเดียวคงไปไม่ถึงเป้าหมาย แผนและทีมต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะการทำไร่อ้อยให้ประสบความสำเร็จ หากมีการวางแผนแต่ละขั้นตอน แต่ละกิจกรรมตามปฏิทินการทำไร่ เป้าหมายสู่ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องไกลตัว ยิ่งมีทีมสนับสนุนหรือผู้ช่วยงานที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะคนในครอบครัว ยิ่งสามารถทำตามเป้าหมายได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
คนเก่งเกษตรสมัยใหม่วันนี้ ขอแนะนำพี่น้องมิตรชาวไร่ให้รู้จักกับคุณประจักษ์ จันทร์ใหม่มูล หรือคุณต้น ทายาทเถ้าแก่ไร่อ้อยรุ่นใหม่ พร้อมกับคุณพ่อคนเก่ง เตี่ยประจวบ จันทร์ใหม่มูล มิตรชาวไร่โรงงานน้ำตาลมิตรผลด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี สองพ่อลูกที่แสดงถึงพลังของคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่สามารถทำงานร่วมกันในฐานะชาวไร่อ้อยสู่การทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้อย่างลงตัวและประสบความสำเร็จ
เตี่ยประจวบเล่าให้ฟังว่า “ก่อนมาทำไร่ ผมเป็นลูกจ้างเย็บผ้า ไปทุกที่ทั้งกรุงเทพ ชลบุรี อุดรธานี ฯลฯ สมัยนั้นสงครามเวียดนามมีงานให้ทำเยอะ พอสงครามจบ งานเริ่มน้อยลง เลยเลิกเย็บผ้ากลับมาอยู่บ้าน มีความคิดอยากทำไร่ขึ้นมา เลยลองทำข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง แต่ก็ไม่ได้สำเร็จอย่างที่คิด ต่อมาเห็นคนอื่นเขาปลูกอ้อยแล้วได้ดีกว่าที่เราทำอยู่ เลยตัดสินใจทำอ้อยตั้งแต่ตอนนั้น”
เตี่ยประจวบเริ่มเข้าสู่ชีวิตชาวไร่อ้อยช่วงปี พ.ศ.2519 เริ่มจากการฝากโควตาคนอื่น ล้มลุกคลุกคลานบ้าง เจอปัญหาราคาอ้อยไม่ค่อยดีบ้าง แต่ด้วยความมานะบากบั่นทำให้เตี่ยเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากที่มีรถ 2 คัน เริ่มซื้อรถเพิ่ม และรับจ้างบรรทุกอ้อยจากคนอื่น ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เบี้ยวไม่โกง ทำให้เตี่ยมีโควตาของตัวเองจาก 1,500 ตันก้าวสู่หลักหมื่นตัน ทั้งอ้อยของตัวเอง อ้อยเหมาแปลง อ้อยลูกไร่และตัดอ้อยลูกไร่เข้าโควตาตัวเอง โดยสัญญาปีปัจจุบันอยู่ที่ 45,000 ตัน การันตีความสำเร็จในอาชีพชาวไร่ของเตี่ยตลอดช่วง 45 ปีที่ผ่านมาได้เป็นอย่างดี
ความสำเร็จของเตี่ยประจวบจะมาถึงจุดนี้ไม่ได้ หากขาดกำลังสำคัญ โดยเฉพาะช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา เตี่ยได้กำลังสำคัญจากลูกชายอย่างคุณต้น ทายาทคนเก่ง ที่ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทด้านบริหารจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็ตัดสินใจกลับมาช่วยเสริมกำลังงานในไร่ร่วมกับเตี่ย เนื่องจากประสบปัญหาแรงงาน ขาดบุคลากรที่จะช่วยทำงานและจัดการในไร่
“ผมเรียนจบตอนอายุ 25 กลับมาช่วยทำงานทันที เพราะที่ไร่ขาดคน ตอนนั้นบริษัทที่เคยไปฝึกงานด้วยก็อยากให้เราไปทำงานกับเขา แต่ผมดูแล้วว่า ที่บ้านไม่ไหวแล้ว มีปัญหาจริง ๆ เลยตัดสินใจกลับมาช่วยงานไร่ ตอนนี้ก็ช่วยดูแลจัดการงานเก็บเกี่ยว ขนอ้อย บรรทุกอ้อย งาน Operation ต่าง ๆ ส่วนคุณพ่อดูเรื่องการเงิน กำหนดนโยบาย ก็เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ตั้งใจจะทำตรงนี้ต่อไปอยู่แล้ว” คุณต้นกล่าว
“จริง ๆ แล้วไร่เราเกือบจะเป็นโมเดิร์นฟาร์มแล้วนะ เพราะเราเริ่มขยายร่องเพื่อรองรับรถไถเล็กมาเกือบ 10 ปี จากที่เจอปัญหาแรงงาน เลยต้องใช้รถไถเข้าร่อง เพื่อใส่ปุ๋ย ซ่อมอ้อย ให้ยา พอมิตรผลเริ่มส่งเสริมการขยายร่องปลูกแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เราก็เห็นแล้วว่าน่าสนใจ เพราะเรามาถูกทางแล้ว แค่ปรับอีกนิดหน่อยตามคำแนะนำของมิตรผล และเราก็พร้อมและทำให้ดีขึ้นไปอีก”
ในส่วนของเตี่ยประจวบเองกล่าวว่า รู้จักมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มจากการร่วมงาน Kick-Off มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม 100% ที่ไร่ด่านช้าง ซึ่งเป็นการทำไร่อ้อยที่ถอดแบบมาจากออสเตรเลีย เมื่อเตี่ยมีโอกาสเข้าไปศึกษาดูงาน ทำให้ตัดสินใจเข้าสู่การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ โดยค่อย ๆ นำมาปรับและเปลี่ยนให้เหมาะสมกับไร่ของตนเอง
“ผมคิดว่าจะลองเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เพราะแบบเดิมไม่ค่อยดีเท่าที่ควร สมัยก่อนผมจะปลูกร่องแคบ ร่องสั้น ตอนนี้เปลี่ยนเป็น 1.65 เมตร ทำร่องยาว ทุกแปลงรองรับรถตัดทั้งหมด ตอนแรกเรื่องการทำไร่แบบเว้นพื้นที่ให้รถเข้าทำงานได้ ผมก็ทำใจยากนะ โอ้โห! ทำไมร่องกว้างอย่างนี้ แต่พอเราเจอปัญหาแรงงานเข้าไปก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น”
นอกจากการจัดการแปลงอ้อยให้เครื่องจักรสามารถเข้าทำงานได้ดีแล้ว คุณต้นเล่าว่าเทคนิคสำคัญของการทำไร่คือ ต้องทำทุกกิจกรรมตามช่วงเวลาที่เหมาะสม
“ไร่เรามีขั้นตอนที่ชัดเจนคือ ต้องจัดการให้ทันเวลา ตัดก็ต้องทำให้เสร็จตามเวลา บำรุงก็ต้องทำตามกำหนด ถ้าเลยช่วงเวลาที่กำหนดแล้วเครื่องมือบางอย่างก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ แปลงนี้ไม่ทันก็พาแปลงอื่นเลื่อนไปหมด”
“ยกตัวอย่างเช่น หลังตัดอ้อยเสร็จ เอาใบออกเพื่อให้เครื่องมือเข้าได้ แล้วฝังปุ๋ย ฉีดยาคุมแห้งแล้วให้น้ำ ต้องทำให้ทันก่อนอ้อยงอก เพราะถ้าอ้อยงอกแล้วจะฉีดยาคุมวัชพืชไม่ได้ ต้องรอฝนตกอย่างเดียว พออ้อยโต 1-2 เดือน รถไถเข้าได้ ฝังปุ๋ยรอบ 2 รอฝน หรือจะฉีดยาคุมแห้งอีกรอบ ถ้าทำทันเวลาตามนี้ อ้อยจะดี เราพยายามจะทำให้ทันตามนี้ให้ได้ทุกแปลง ผมคิดว่าเราไม่ได้เป๊ะตามโมเดิร์นฟาร์มทุกอย่าง แต่เราปรับให้เหมาะสมกับกำลังของเราเอง”
คุณต้นกล่าวว่า ปัจจัยสำคัญสำหรับการทำอ้อยแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มคือเรื่องน้ำ เพราะถ้าอ้อยได้น้ำเพียงพอต่อความต้องการยังไงอ้อยก็ดี
“เราให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำ เพราะหากมีน้ำเพียงพออ้อยงามแน่นอน ส่วนใหญ่เราจะมีบ่อบาดาลแล้วใช้โซล่าร์เซลล์ ติดตั้งน้ำหยด แปลงไหนที่ไม่มีบ่อบาดาลก็ต้องรอ”
นอกจากนี้เตี่ยเสริมคุณต้นว่า “เราจะดูเรื่องความชื้นของดิน ตอนเตรียมดิน ไถให้ตออ้อยเก่าให้ตาย แล้วลงริปเปอร์เป็นตาหมากรุก ลงให้ลึกจะเก็บความชื้นได้มาก ตอนปลูกอ้อยเราปลูกใช้น้ำหยด วางถังบนหลังคารถไถบรรจุ 2,500 ลิตร ปลูกประมาณ 200 เมตร ให้น้ำหยดพร้อมเครื่องปลูกมีปุ๋ยใส่พร้อมกันไปด้วย ถ้าดินเป็นก้อนให้ใช้โรตารีไปตีให้ดินละเอียดความชื้นก็ดี อ้อยก็งอกดีไปด้วย”
“เราเริ่มใช้รถไถเล็กมาก่อน เพื่อช่วยเรื่องฝังปุ๋ย จากนั้นก็มีหางฉีดยาคุม รถตัดอ้อย และนำถังบินเข้ามารับอ้อยออกมาเทใส่รถพ่วง เพื่อลดการเหยียบย่ำของรถใหญ่ ล่าสุดที่นำเทคโนโลยีมาใช้คือเรื่องโซล่าร์เซลล์ที่เพิ่งทำไป 5 จุด ตั้งใจจะเตรียมอีกหลายจุด เพราะคุ้มค่ามากกว่าใช้ไฟฟ้าเยอะมาก ถ้าใช้เครื่องปั่นไฟต้องทำงานทั้งวันทั้งคืน มาเปรียบเทียบกับโซล่าร์เซลล์แล้ว อย่างไรแล้วโซล่าร์เซลล์ก็คุ้มกว่า 2-3 ปีก็คืนทุน ตรงไหนมีแหล่งน้ำก็วางโซล่าร์เซลล์ทั้งหมด ผมใช้ความรู้ด้านวิศวกรที่เรียนมาตอนปริญญาตรี มาวางแผนติดตั้งโซล่าร์เซลล์ด้วยตัวเอง ก็ลดต้นทุนการจ้างคนไปได้เยอะ เพราะทำเองทั้งหมด”
คุณต้นเล่าถึงการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรเข้ามาช่วยงานในไร่อ้อย ทำให้สามารถลดต้นทุนลงได้ และคุ้มค่าต่อการลงทุนในระยะยาวโดยเฉพาะเรื่องโซล่าร์เซลล์
“ผมมองว่า อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นหลักกว่าพืชอื่น ๆ สมมติว่าปลูกข้าวโพด ออกฝักตอนแล้ง ก็ไม่ได้ผล ปลูกมันสำปะหลังเจอน้ำท่วมก็แย่ ราคาก็ไม่ค่อยคงที่คงวา ปลูกข้าวราคาก็แย่ ส่วนอ้อยเราตัดลำแรกยันลำสุดท้ายราคาเดียวกันทั้งหมด มีหน่วยงานคอยช่วยเหลือกำกับ ปลูก 1 ครั้งได้ตั้งหลายปี บำรุงรักษาตอดี ๆ หน่อยได้ตั้ง 5-6 ปี ทำอ้อยผมว่าเป็นอาชีพที่มั่นคงดีที่สุดแล้ว” เตี่ยประจวบกล่าวและทิ้งท้ายถึงเพื่อนมิตรชาวไร่ว่า
“หากเราได้ลงมือทำแล้ว จงพยายามทำให้ได้ประสิทธิภาพตันต่อไร่ต่อไร่สูง การวางแผนการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องลงทุน ทุนตรงไหนที่ควรจะใช้ก็ใช้ให้ถูกจุด บางคนทำน้อย แต่จ้างทั้งหมด ก็ไม่รอด บางคนเอาเงินไปใช้ผิดประเภท เอาเกี๊ยวโรงงานมา แทนที่จะเอาไปลงไร่ กลับไปซื้อรถปลูกบ้าน มันก็ไม่ใช่ ดังนั้นเราต้องมุ่งมั่นตั้งใจ เพราะถ้าเราตั้งใจก็สำเร็จ อ้อยเป็นพืชที่น่าปลูกที่สุดแล้วเมื่อเทียบกับพืชอื่น ๆ ที่ผมเคยทำมา”
ท้ายที่สุดคุณต้นกล่าวถึงการทำไร่อ้อยผ่านมุมมองของทายาทรุ่นใหม่ที่มาช่วยงานสานต่อไร่อ้อยร่วมกับครอบครัวว่า
“ผมเข้าใจว่าวัยรุ่นเรามีความฝันของตัวเอง แต่เมื่อครอบครัวต้องการเรา เราก็ต้องกลับมา ของผมแม้จะมาจากสถานการณ์บังคับคือขาดคน ถ้าไม่มาคนอื่นจะเหนื่อยเพิ่มขึ้น ก็เกิดความเสียหายได้ เรามาก็เรียนรู้กันไป ปรับตัวได้ ทำไร่อ้อยไม่ได้แย่ สนุกดีด้วยซ้ำ เพราะเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ เขาสร้างไว้ให้เรียบร้อยแล้ว เราแค่มาทำให้มันเติบโต ให้มีประสิทธิภาพ มากกยิ้งขึ้นเท่านั้นเอง”
นอกจากนี้คุณต้นยังทิ้งท้ายว่า “ภูมิใจในอาชีพนี้นะ อนาคตผมก็จะทำไร่ต่อไป อ้อยมันก็โตของมันเอง เราแค่จัดการตามขั้นตอนให้มันเรียบร้อย ไม่กังวลเรื่องจบโทมาแล้วไม่ได้ใช้ เพราะผมได้นำสิ่งที่เรียนมาปรับใช้ในไร่ ทั้งงานด้านวิศวกรรมและงานบริหาร ได้ใช้สิ่งที่ร่ำเรียนมา บวกกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นมากมาย มันไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่สำคัญเราได้แบ่งเบาครอบครัวและได้อยู่กับครอบครัวด้วยครับ”
หลักและแนวคิดการทำไร่อ้อยของสองพ่อลูก ที่ใช้พลังของสองเจเนอเรชั่น ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ มุ่งเน้นไปที่การวางแผนและจัดการอ้อยตามเวลา หากทำแต่ละกิจกรรมทันตามกำหนด ผลผลิตอ้อยก็งอกงามตามเป้าหมาย และที่สำคัญหากกำลังใจและกำลังหนุนจากครอบครัวยิ่งแข็งแรงแน่นแฟ้น การทำไร่อ้อยสมัยใหม่ให้ประสบความสำเร็จอย่างมั่นคงยั่งยืนก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป