มิตรชาวไร่หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ หรือรอยเท้าคาร์บอน กันมาบ้างแล้ว ซึ่งเรื่องนี้มีส่วนสำคัญเกี่ยวกับการช่วยรักษาโลกของเราให้ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้โลกร้อนขึ้นทุกวัน ด้วยการใช้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ควบคุมการผลิตหรือการดำเนินชีวิตขององค์กรและมนุษย์บนโลก เพื่อไม่ให้โลกอยู่ในภาวะโลกรวน
รอยเท้าคาร์บอน หรือ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่วัดผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อระบบสิ่งแวดล้อมจากวงจรของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การประกอบชิ้นส่วน การขนส่ง การใช้งาน และการจัดการซากหลังใช้งาน
ซึ่งรอยเท้าคาร์บอนจะทำให้เราทราบว่ากว่าที่จะได้ผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงไร โดยแสดงออกในรูปของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกสำคัญชนิดหนึ่งที่ทำให้โลกร้อนขึ้น หากมีมากเกินกว่าที่ระบบของธรรมชาติจะรักษาสมดุลไว้ได้ โดยตัวบ่งชี้คือโอกาสในการเกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming Potential; GWP)
วิธีการหลักของรอยเท้าคาร์บอนคือ ประเมินปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อมและประเมินความมากน้อยในการส่งเสริมพลังงานทดแทนหรือพลังงานสะอาดขององค์กรนั้น เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการปลูกป่า รอยเท้าคาร์บอนเป็นส่วนย่อยของรอยเท้าระบบนิเวศ (ecological footprint) ซึ่งจะรวมเอาความต้องการของมนุษย์ทั้งหมดในระบบชีวนิเวศเข้าไปด้วย
ปกติแล้ว รอยเท้าคาร์บอนก็คือปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (นิยมใช้หน่วยกิโลกรัมหรือตัน) ซึ่งเป็นก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับแก๊สเรือนกระจกชนิดอื่น ๆ รอยเท้าคาร์บอนยังสามารถคำนวณได้จากการใช้วิธีดูวงจรการผลิต (Life Cycle Assessment) หรือดูจากปริมาณก๊าซที่ปล่อยออกมาจากพลังงานเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกรณีนี้ก็สามารถใช้วัดปริมาณที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ได้ด้วย นอกจากปริมาณที่ใช้พลังงานจะมีความสำคัญแล้ว ที่มาของพลังงานเหล่านั้นก็มีความสำคัญต่อการคำนวณเช่นกัน (เช่น พลังงานเหล่านั้นมาจากเชื้อเพลิงหรือมาจากแหล่งพลังงานทดแทน)
นอกจากนี้คำนิยามอื่น ๆ รอยเท้าคาร์บอนยังหมายถึง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดที่มาจากการกระทำของมนุษย์แต่ละคนในระยะเวลา 1 ปี (ซึ่งรวมถึงการปล่อยออกมาผ่านการใช้พลังงานด้วย) นิยามนี้ให้ความสำคัญเรื่องของการคำนวณปริมาณคาร์บอนของแต่ละบุคคล ซึ่งมาจากแนวความคิดที่ว่ารอยเท้าคาร์บอนนี้เป็นสิ่งที่มาจากการกระทำของมนุษย์ทุก ๆ คนรวมกัน รอยเท้าคาร์บอนอาจจะพิจารณาเฉพาะการปล่อยโดยตรงอย่างเดียว (คำนวณจากปริมาณพลังงานที่ใช้ในครัวเรือนและการขนส่ง รวมไปถึงการเดินทางด้วยรถยนต์ เครื่องบิน รถไฟ หรือการขนส่งสาธารณะอื่นด้วย) หรืออาจจะรวมการปล่อยทางอ้อมไว้ด้วยก็ได้ (รวมปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นผลมาจากสินค้าและบริการที่บริโภคในแต่ละวัน) การคำนวณจากล่างขึ้นบนจะให้ผลรวมเป็นปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แต่ละคนปล่อยออกมาจากกิจกรรมของตัวเอง ส่วนการคำนวณจากบนลงล่างจะให้ผลรวมเป็นปริมาณที่ประเทศนั้น ๆ ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทั้งหมด และสามารถนำไปหารเป็นปริมาณเฉลี่ยที่ครัวเรือนหนึ่งปล่อยออกมา
ปัจจุบันและอนาคต รอยเท้าคาร์บอนจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการดำเนินกิจกรรมหรือการกระทำต่าง ๆ ของมนุษย์เกือบทุกขั้นตอน ที่จะควบคุมไม่ให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญทำให้โลกของเราร้อนขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนด้วย เราในฐานะมนุษย์คนหนึ่งก็มีส่วนที่จะช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อนได้ เริ่มง่าย ๆ ด้วยการหยุดเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพียงเท่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้นได้ค่ะ
ที่มาข้อมูล-ภาพ
https://science.mahidol.ac.th/