- เทคโนโลยีสมัยใหม่
- ศ., 29 มิ.ย. 61
สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ปัจจุบันภาพถ่ายทางอากาศ มีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเดินทาง ที่เราสามารถใช้ระบบนำทาง หรือ GPS นำทางไปยังจุดหมายที่เราไม่เคยไปมาก่อนได้ หรือการนั่งดูแผนที่ออนไลน์ไปยังสถานที่ที่เราอยากไป เป็นต้น
เทคโนโลยีสมัยใหม่วันนี้ มีเรื่องราวของเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างภาพถ่ายดาวเทียมที่นำมาใช้ประโยชน์ด้านอ้อยได้อย่างน่าทึ่งค่ะ
ภาพถ่ายดาวเทียม เป็นข้อมูลภาพที่ได้จากการบันทึกค่าสะท้อนพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า จากสิ่งต่าง ๆ ที่ปกคลุมบนพื้นผิวโลก กลับไปยังอุปกรณ์บันทึกข้อมูล (sensor) ของดาวเทียม ภาพถ่ายดาวเทียมมีแนวโคจรรอบโลกและส่งข้อมูลที่บันทึกกลับมายังศูนย์ควบคุมภาคพื้นดิน ทำให้ผู้ใช้งานจะได้ภาพบันทึกซ้ำของพื้นที่ ตามรอบแนวโคจรของดาวเทียม เช่น บันทึกซ้ำทุก 5 วัน สำหรับดาวเทียม Sentinel หรือบันทึกซ้ำทุก 15 วันสำหรับดาวเทียม LANDSAT เป็นต้น จึงสามารถใช้ภาพถ่ายดาวเทียมในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ได้อย่างดี
นอกจากนี้ภาพถ่ายดาวเทียมยังสามารถถ่ายภาพได้ ครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ 110x110 กม. สำหรับภาพ Sentinel2 และ 230x230 กม. สำหรับภาพ LANDSAT
การจัดเก็บข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ถูกจัดเก็บในลักษณะเชิงตัวเลข จึงสามารถนำข้อมูลตัวเลขจากภาพถ่ายดาวเทียม ไปวิเคราะห์ใช้งานอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การใช้ค่าดัชนีต่าง ๆ ที่ได้จากการคำนวณสัดส่วนของค่าสะท้อนพลังงานคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในช่วงคลื่นที่แตกต่างกันจากสิ่งต่าง ๆ ที่ปกคลุมบนพื้นผิวโลก เช่น ค่า NDVI (Normal Differential Vegetation Index) เป็นค่าที่แสดงถึง ความเขียว ความหนาแน่นของปริมาณพืชพรรณ ค่า NDWI (Normal Differential Water Index) ค่าดัชนีที่แสดงถึงปริมาณน้ำที่อยู่ในเซลล์พืช ค่า NDDI (Normal Differential Drought Index) ค่าดัชนีที่แสดงถึงระดับความแห้งแล้ง เป็นต้น
การประเมินผลผลิตอ้อย เพื่อคาดการณ์ปริมาณอ้อยก่อนเปิดฤดูกาลผลิตในแต่ละปี มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอย่างมาก ข้อมูลคาดการณ์ปริมาณอ้อยจะถูกนำไปสนับสนุนการตัดสินใจเพื่อบริหารจัดการห่วงโซอุปทาน ให้สอดคล้องกับปริมาณผลผลิตอ้อยที่กำลังจะเก็บเกี่ยวส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำตาล
กลุ่มมิตรผล โดยฝ่ายตรวจสอบและติดตามงานอ้อย ด้านกลยุทธ์และสนับสนุนกลุ่มงานอ้อย ได้นำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมและการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ มาสนับสนุนงานประเมินผลผลิตอ้อย เพื่อให้ได้พื้นที่ปลูกที่แม่นยำ ด้วยการตรวจสอบรูปแปลงที่ลงทะเบียนปลูกเทียบภาพถ่ายดาวเทียม และติดตามสภาพความสมบูรณ์ของอ้อยด้วยค่า NDVI ตามช่วงการเจริญเติบโต ตั้งแต่ปลูกเสร็จจนถึงการเก็บเกี่ยว จึงทำให้ข้อมูลการประเมินผลผลิตอ้อยของกลุ่มมิตรผลมีความแม่นยำสูง จากข้อมูลพื้นที่ปลูกที่ถูกต้อง และผลผลิตต่อไร่ที่ใกล้เคียงกับการเกิดจริง ด้วยการประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
เทคโนโลยีของภาพถ่ายดาวเทียมนี้ ทำให้การใช้ประสบการณ์ การใช้สายตา การใช้สูตร เพื่อประเมินผลผลิตอ้อยของเรา ถูกพัฒนาก้าวไปอีกขั้นด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมประเมินผลผิตที่ได้ความแม่นยำสูง สามารถประเมินได้ในพื้นที่มหาศาล ทำให้การทำงานในไร่ สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น
ที่มาข้อมูล-ภาพ
วารสารมิตรชาวไร่
https://www.trueplookpanya.com/