หน้าแรก

อย่างที่ทราบกันดีว่า ต้นแบบการทำไร่อ้อยของมิตรผลโมเดิร์นฟาร์มมีโมเดลจากประเทศออสเตรเลีย ดินแดนที่มีพื้นที่ทำไร่อ้อยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มิตรชาวไร่อยากรู้ไหมคะว่า ไร่อ้อยในประเทศออสเตรเลียสำคัญอย่างไร และทำไมอ้อยจึงเป็นอุตสาหกรรมในชนบทที่สำคัญมาก ๆ ในออสเตรเลีย

ประเทศออสเตรเลีย เป็นประเทศที่มีผลผลิตอ้อยโดยรวมทั้งประเทศประมาณ 35 ล้านตันต่อปี หรือผลิตน้ำตาลทรายดิบได้ประมาณ 4 – 4.5 ล้านตันน้ำตาลต่อปี ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปริมาณอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย อาจไม่ถือว่าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ แต่ทำไมเมื่อพูดถึงการปลูกอ้อยจึงมักจะมีผู้คนหยิบยกรูปแบบวิธีการปลูกอ้อยของประเทศออสเตรเลียมาเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการทำฟาร์มที่ทันสมัยให้ผลผลิตอ้อยต่อพื้นที่สูงภายใต้แวลาและต้นทุนที่สามารถควบคุมได้

เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยในประเทศออสเตรเลียสามารถทำได้ดีและมีการพัฒนาความรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เพื่อชดเชยแรงงานที่ขาดแคลนและมีต้นทุนสูง ทั้งยังมีการรวมกลุ่มกันเป็นพันธมิตรระหว่างหน่วยงานหลัก คือ สมาคมชาวไร่ สมาคมโรงงานน้ำตาล และสถาบันวิจัยและพัฒนาอ้อยและน้ำตาล เพื่อพัฒนารูปแบบการทำฟาร์มที่ให้ผลผลิตต่อพื้นที่ ซึ่งโดยภาพรวมแล้วผลผลิตต่อพื้นที่ของออสเตรเลียมากกว่าผลผลิตเฉลี่ยต่อพื้นที่ของไทย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่มิตรผลมีโครงการนำความรู้จากประเทศออสเตรเลียมาถ่ายทอดให้กับชาวไร่อ้อยไทย

003.jpg

หัวใจหลัก (เสาหลัก) 4 ต้น ของการปลูกอ้อยแบบออสเตรเลีย

  1. Controlled Traffic Systems’ หรือ ระบบการควบคุมการเส้นทางในแปลงอ้อย ซึ่งต้องมีระยะห่างระหว่างแถว (ร่อง) กับขนาดของล้อเครื่องจักรกลเกษตรที่ใช้อย่างเหมาะสมกัน จึงทำให้การใช้เครื่องจักรไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อหน้าดิน ไม่เกิดการอัดแน่น จนกระทบต่อการดูดซึมของน้ำและการเติบโตของอ้อย
  2. ‘Reduce excessive soil cultivation' ลดการพรวนดินมากเกินไปเพื่อช่วยรักษาโครงสร้างของดินที่ดี
  3. Cut cane green and keep a ‘trash blanket’ on ratoon cane’ ตัดอ้อยสะอาดไม่เผา และเก็บใบอ้อยบางส่วนไว้คลุมดินเพื่อรักษาความชื้นของหน้าดินให้กับอ้อยตอ
  4. ‘Use legume rotation crops’ ใช้พืชหมุนเวียนตระกูลถั่วปลูกหมุนเวียนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของดินหัวใจหลักทั้ง 4 ข้ออาจไม่เพียงพอ ถ้าพื้นที่ปลูกอ้อยอยู่ในเขตแห้งแล้ง การจัดหาคนงานทำงานในไร่ได้ยาก มีต้นทุนทางธรรมชาติที่สูงเนื่องจากต้องเสียค่าไฟฟ้าใช้ในการสูบน้ำ และเสียค่าซื้อน้ำที่แพงกว่าพื้นที่ทั่วไป จะทำอย่างไรที่จะให้ธุรกิจปลูกอ้อยอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน การเรียนรู้ธรรมชาติและพยายามที่จะปรับตัวให้สามารถอยู่กับธรรมชาติ ไม่ยอมให้ธรรมชาติมาเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

เกษตรกรชาวไร่อ้อยที่เทเบิ้ลแลนด์รายหนึ่ง มีคนทำงานในไร่จำนวน 10 คน  รวมเจ้าของแล้ว 3 คน (พ่อและลูกชาย 2 คน) บนพื้นที่ปลูกอ้อย 2,300 เฮกตาร์ หรือ 14,375 ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตแห้งแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอ เฉพาะค่าใช้จ่ายในการซื้อไฟฟ้า น้ำ และปุ๋ย (ไม่รวมค่าคนงาน ค่าซ่อมบำรุงเครื่องจักร และค่าใช้จ่ายอื่นๆ) ปีละประมาณ 4 ล้านเหรียญออสเตรเลีย หรือ 94 ล้านบาท ซึ่งเป็นต้นทุนเกือบ 7 พันบาทต่อไร่ ชาวไร่รายนี้จำเป็นต้องมีวิธีบริหารจัดการไร่ที่สามารถควบคุมการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุนการปลูกให้ได้มากที่สุด

ด้วยความที่เป็นคนปลูกอ้อยและเป็นผู้รับเหมาตัดอ้อยที่มีประสบการณ์มานานกว่า 40 ปี เค้ารู้จักธรรมชาติของดิน สภาพอากาศ รู้ว่าน้ำหนักของเครื่องจักรและการจัดเส้นทางในไร่แบบใด จะไม่ทำให้เกิดความเสียหายต่อแปลงอ้อย ดังนั้น เค้าจึงมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม ดังต่อไปนี้

  1. สำรวจพื้นที่ทั้งหมด และหากรูปแปลงไม่เหมาะสม จะออกแบบรูปแปลงใหม่และปรับปรุงความลาดชันของแปลง เพื่อให้น้ำที่มาจากระบบชลประทานสามารถกระจายไปอย่างทั่วถึง
  2. ปรับปรุงและเลือกใช้ระบบการให้น้ำที่เหมาะกับลักษณะของพื้นที่ เช่น ระบบการให้น้ำแบบซึมใต้ดิน (Subsurface) การให้น้ำบนดิน (flood irrigation) หรือระบบน้ำแบบ Pivot
  3. ร่วมออกแบบเครื่องจักรกับบริษัทเครื่องจักรกลเกษตร ให้มีขนาดที่เหมาะสมกับพื้นที่ขนาดใหญ่ เพื่อช่วยให้คนทำงานที่มีอยู่จำนวนจำกัดสามารถดูแลพื้นที่และงานของตนเองได้เต็มที่
  4. ดูแลจัดการใส่ปุ๋ยตามคุณภาพของดิน บริหารจัดการน้ำตามเวลาที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ ไม่มากไม่น้อยเกินไป เพื่อควบคุมค่าใช้จ่าย รวมทั้งหมั่นดูแลกำจัดวัชพืช

จากการสำรวจร้อยเปอร์เซ็นต์จากผู้เชี่ยวชาญของบริษัท คาดว่า ชาวไร่รายนี้จะมีผลผลิตอ้อยในปีนี้ 253,924 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 110 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ 18 ตันต่อไร่ อ้อยปลูกใหม่ 646 เฮกตาร์ หรือ 4,040 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 141 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ 23 ตันต่อไร่ อ้อยตอ 1,654 เฮกตาร์ หรือ 10,338 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ย 98 ตันต่อเฮกตาร์ หรือ 16 ตันต่อไร่

เมื่อถึงฤดูหีบอ้อย การเก็บเกี่ยวก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาคุณตออ้อยให้มีผลผลิตต่อไร่ที่ดีในฤดูกาลถัดไป ขณะเดียวกันระยะเวลาของการตัด ขึ้น ขน เพื่อส่งอ้อยไปโรงงาน ก็มีส่วนสำคัญที่รักษาคุณภาพอ้อย และทำให้ชาวไร่ขายอ้อยสดได้ราคาที่ดีไม่เกิดการสูญเสียค่าความหวาน (C.C.S.)

ที่เทเบิ้ลแลนด์ ชาวไร่ ผู้รับเหมาตัดอ้อย และโรงงาน ร่วมมือกัน วางแผนการตัดอ้อย ขนส่ง และหีบ ให้มีระยะเวลาเฉลี่ยของการตัด ขึ้น ขน เพื่อส่งอ้อยไปโรงงาน เฉลี่ยไม่เกิน 3 ชั่วโมง ทำการตัดอ้อยตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ผู้รับเหมาตัดอ้อยจะมี  Bin (กระบะใส่อ้อยขนาด 24 ตันต่อ Bin) มาวางรอถึงหน้าฟาร์มอ้อย และรถบรรทุกอ้อยสามารถหมุนเวียนรับอ้อยเพื่อส่งถึงโรงงานภายในระยะเวลาที่กำหนด โรงงานสามารถหีบอ้อยได้อย่างต่อเนื่อง อ้อยของเทเบิ้ลแลนด์ จึงสด สะอาด

ที่ออสเตรเลีย ปัญหาใหญ่สำหรับความยั่งยืนของการปลูกอ้อยอีกปัญหาหนึ่ง คือ การที่ชาวไร่มีอายุมากขึ้น ขาดคนรุ่นใหม่ที่สนใจสืบทอดการปลูกอ้อยต่อไป แต่เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อโควิด 19 (COVID1-9) ธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบต้องหยุดกิจการ คนรุ่นใหม่ต้องกลับมาอยู่ครอบครัว สิ่งที่ทำให้หลายคนตระหนักได้ คือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ หรือโลกใบนี้ อุตสาหกรรมเกษตรรวมถึงการปลูกอ้อย ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่สามารถดำเนินต่อไปได้ เป็นอุตสาหกรรมที่สร้างงานต่อเนื่อง ซึ่งถ้าหากมีบริหารจัดการในฟาร์มที่ดีแล้ว คนทำงานในภาคการเกษตรจะไม่ตกงาน  และจะยังคงเป็นภาคอุตสาหกรรมหลักที่ทำให้เศรษฐกิจมีเงินหมุนเวียนได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

ข้อมูลจาก

วารสารมิตรชาวไร่ฉบับ พฤศภาคม-มิถุนายน 2564

https://www.canegrowers.com.au/

 

ข่าวปักหมุด