หน้าแรก

สวัสดีค่ะพี่น้องมิตรชาวไร่ทุกท่าน เชื่อว่าทุกวันนี้มิตรชาวไร่หลาย ๆ คนไม่ค่อยได้ใช้เงินสดกันแล้ว พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยซื้อข้าวของก็ใช้สมาร์ตโฟนสแกนคิวอาร์โค้ดจ่าย หรือไม่ก็โอนจ่ายผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร นอกจากนี้ยังมีโครงการต่าง ๆ ของรัฐที่ให้ใช้แอปฯ เป๋าตังค์ เพื่อใช้จ่ายโครงการคนละครึ่ง หรือใช้จ่ายค่าโรงแรมในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น

อีกทั้งปัจจุบันเรานิยมซื้อของออนไลน์ที่จ่ายผ่านบัตรเดบิต หรือเครดิต หรือโอนจ่ายให้ร้านค้าโดยตรงกันมากขึ้น แม้แต่เงินเดือนหรือเงินที่ได้จากการทำงานก็ยังไม่ค่อยถอนเอาเงินสดออกมาพกติดตัวเหมือนเมื่อก่อน

จะเห็นว่าการใช้จ่ายแบบไร้เงินสด เริ่มชัดเจนขึ้นตั้งแต่ช่วงที่มีโรคระบาดอย่างโควิด-19 ผู้คนหลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินสด เพราะเงินสดง่ายต่อการแพร่เชื้อ รวมถึงข่าวการปลอมแปลงธนบัตรที่ระบาดเกลื่อนเมือง

ในที่นี้เราจะไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือเรื่องของ "บาทดิจิทัล" ซึ่งเป็น Central Bank Digital Currency เรียกสั้น ๆ ว่า CBDC คือ สกุลเงินบาทที่ออกและควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับสกุลเงินดิจิทัลอื่น ๆ ที่เราเคยได้ยินกันมาบ้างคือ คริปโตเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เช่น บิตคอยน์ แต่บาทดิจิทัลเป็นสกุลเงินดิจิทัลของไทย เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แทนการใช้เงินสดแบบเดิมที่อยู่ในรูปธนบัตรและเหรียญกษาปณ์ หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแผนที่จะเริ่มทดลองใช้เงินบาทดิจิทัลในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 นี้ ทั้งระบบออนไลน์และระบบออฟไลน์

สำหรับเงินบาทดิจิทัลนั้น จะมีลักษณะคล้ายกับ Stablecoin คือมูลค่าจะถูกหนุนหลังด้วยเงินบาทในอัตราส่วน 1:1 นั่นหมายความว่าทุก ๆ การออกเงิน 100 บาทดิจิทัล ก็จะต้องมี 100 บาทเก็บสำรองเอาไว้ในบัญชีธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่เสมอ ซึ่งค่าเงินจะไม่ผันผวนขึ้นลงตามกลไกตลาดเหมือนเงินดิจิทัลสกุลอื่น เนื่องจากความผันผวน จะเป็นไปตามตลาด ค่าเงินสกุลเงินของประเทศนั้น ๆ แทน ต่างจากบิตคอยน์ที่มูลค่าจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามกลไกตลาด ความต้องการซื้อต้องการขาย (ช่วงไหนที่มีความต้องการบิตคอยน์มากกว่าปริมาณบิตคอยน์ที่มีในระบบมูลค่าบิตคอยน์ก็จะสูงขึ้น)

แล้วเงินบาทดิจิทัล ต่างจากการที่เราใช้ พร้อมเพย์ โมไบล์แบงกิง หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไร?

จากเงินที่อยู่ในรูปเงินอิเล็กทรอนิกส์สู่ “เงินบาทดิจิทัล” มีลักษณะเดียวกันตรงที่ไม่มีอะไรให้จับต้องได้ แต่รับรู้ร่วมกันว่ามีอยู่จริง สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เช่นเดียวกับประเทศจีนที่ได้ประกาศใช้เงินดิจิทัลหยวนสำหรับประชาชนอย่างเป็นทางการไปแล้วเมื่อช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา หากดูในมุมมองของผู้ใช้งานอย่างเรา ช่วงแรกจะพบว่าไม่มีความแตกต่างกัน เพราะมันก็นับเป็นการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาก็คือ เรื่องของความปลอดภัยที่จะมีมากกว่า เพราะบาทดิจิทัลจะได้รับการคุ้มครองจากธนาคารแห่งประเทศไทย และธุรกรรมต่าง ๆ ก็จะอยู่บนบล็อกเชน ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลเหล่านี้ยากที่จะโดนแก้ไขได้ แต่สำหรับอนาคตข้างหน้า เงินบาทดิจิทัลจะถูกพัฒนาและก็จะเริ่มมีความแตกต่างมากขึ้น เพราะธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้เปิดโอกาสให้เหล่านักพัฒนาโปรแกรม สามารถเข้ามาสร้างนวัตกรรมต่อยอดบนเงินบาทดิจิทัลได้อีกชั้น เช่น การสั่งสินค้าออนไลน์ที่สามารถตั้งเงื่อนไขให้ยังไม่มีการจ่ายเงินออกไปจนกว่าสินค้าจะมาถึงมือเรา หรือหากเป็นภาครัฐ ก็จะสามารถกำหนดให้เงินที่แจกจ่ายแก่ประชาชนนั้น สามารถซื้อสินค้าหรือบริการใดได้บ้าง พูดง่าย ๆ คือเราสามารถ “สร้างเงื่อนไข” ที่ผูกกับการชำระเงินด้วยบาทดิจิทัลได้

อย่างไรก็ตามทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงไม่มีนโยบายให้นำเงินบาทดิจิทัลไปเชื่อมต่อกับ DeFi หรือระบบการเงินแบบไร้ศูนย์กลาง ณ ปัจจุบัน แต่ไม่แน่ว่าอนาคตอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของเงินบาทดิจิทัลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ดังนั้นเรียนรู้ไว้ตอนนี้ก็ไม่เสียหายค่ะ

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่

https://www.bot.or.th/

https://www.sanook.com/

 

ข่าวปักหมุด