หน้าแรก

น้ำหมักชีวภาพเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการปลูกผักอินทรีย์ที่จะทำให้ผักในแปลงเติบโตงอกงามมีรสชาติหวาน กรอบ อร่อย ปลอดภัยต่อคนปลูกและคนกิน แต่พี่น้องมิตรชาวไร่ทราบไหมคะว่า น้ำหมักชีวภาพนั้นไม่ได้ใช้แค่เพียงเศษอาหาร เศษพืชผัก หรือสัตว์ มาเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเท่านั้น แต่สามารถนำเอาผลไม้สุกที่ปลูกอยู่ในพื้นที่เกษตรของเรามาทำเป็น “น้ำหมักผลไม้สุก” ได้เหมือนกัน

 การนำผลไม้สุกมาหมักรวมกันจนกลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญในการบำรุงพืชผักนั้น เปรียบเสมือนการนำธาตุอาหารจาก “ผล” กลับมาบำรุงตัวของพืชเอง เพื่อเร่งการออกดอกและกระตุ้นให้ผลสุก และยังช่วยปรับสภาพดินในแปลงให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยให้ประหยัดต้นทุนการบำรุงพืชผักได้อีกด้วย

น้ำหมักผลไม้สุก มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ด้วยการใช้ 3 วัตถุดิบหลัก ดังนี้

  1. ผลไม้สุกชนิดใดก็ได้ที่หาได้ในพื้นที่ 50 กิโลกรัม
  2. น้ำตาลทรายแดง 5 กิโลกรัม
  3. ถังพลาสติกขนาด 100 ลิตร

IMG_3364.JPG

วิธีทำน้ำหมักง่าย ๆ แต่ได้ธาตุอาหารครบครัน

สำหรับวิธีการทำน้ำหมักผลไม้สุกที่เราจะพาพี่น้องมิตรชาวไร่มาเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้ เราจะใช้มะเขือเทศมาเป็นวัตถุดิบหลักของการทำน้ำหมักผลไม้สุกค่ะ หรือถ้าพี่น้องท่านใดมีผลไม้สุกชนิดอื่น ๆ รสชาติใดก็ได้ ที่หาได้ในพื้นที่ก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกันนะคะ

  1. เริ่มจากการนำผลมะเขือเทศ 50 กิโลกรัม และน้ำตาลทรายแดง 5 กิโลกรัม เทใส่ถังหมักผสมให้เข้ากันแล้วจึงปิดฝาถัง อย่าปิดแน่นเกินไป เพราะการหมักจำเป็นต้องปล่อยให้อากาศเข้าไปเล็กน้อย เพื่อให้จุลินทรีย์ในน้ำหมักเจริญเติบโตได้ดี
  2. หลังจากนั้นให้ใช้ไม้หรือวัสดุที่มีขนาดยาวถึงก้นถังคนน้ำหมักทุกวัน วันละ 1 ครั้ง
  3. ใช้เวลาหมักประมาณ 60 วัน เมื่อน้ำหมักมีสีน้ำตาลเข้ม และมีความข้นหนืดเล็กน้อย ก็สามารถนำน้ำหมักผลไม้สุกไปใช้ในแปลงผักอินทรีย์ได้

น้ำหมักผลไม้สุกใช้อย่างไรให้ได้ผลดี

สำหรับวิธีการใช้น้ำหมักผลไม้สุก เพื่อบำรุงพืชผักให้ออกดอกและติดผลดี สามารถนำน้ำหมักผลไม้สุก ปริมาณ 50 ซีซี. หรือประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ ผสมกับน้ำเปล่า 20 ลิตร ฉีดพ่นพืชผักในช่วงเช้าหรือเย็น ขณะที่แสงแดดไม่จัด ข้อสังเกตง่าย ๆ คือ ถ้าพืชผักเริ่มติดดอก ก็ผสมอัตราส่วนนี้ฉีดพ่นได้เลยค่ะ

สำหรับวิธีการทำน้ำหมักผลไม้สุก ที่มิตรผลโมเดิร์นฟาร์มได้นำมาฝากแก่พี่น้องทุกท่านได้เรียนรู้กันในครั้งนี้  เพียงแค่ 2 ขั้นตอนง่าย ๆ คือ นำผลไม้สุกมาผสมกับน้ำตาลทรายแดงในถังหมัก และหมั่นคนน้ำหมักวันละครั้ง จนครบ 60 วัน เพียงเท่านี้ก็จะได้น้ำหมักที่ทำง่าย ๆ ได้ด้วยตนเอง ต้นทุนในการทำก็ไม่แพง ช่วยลดรายจ่ายในการทำเกษตร และสร้างรายได้เสริมจากการจำหน่ายน้ำหมักได้อีกทางหนึ่ง

ที่มา : วารสารมิตรชาวไร่ - คุณกรรณิกา ว่องกุศลกิจ ผู้อำนวยการด้านพัฒนาชุมชนเพื่อความยั่งยืน

ภาพจาก :

https://www.organicfarmthailand.com/

https://www.thairath.co.th/

 

ข่าวปักหมุด