หน้าแรก

สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ ช่วงเวลานี้ซึ่งอยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว พี่น้องเกษตรกรต้องระวังการระบาดของโรคฉี่หนู หรือ โรคเลปโตสไปโรสิส (leptospirosis) เป็นพิเศษ เนื่องจากอาชีพของเรา เป็นอาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เพราะเราต้องเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร หรือต้องเดินเท้าเปล่าย่ำน้ำแฉะ ๆ หรือแช่เท้าในน้ำเป็นเวลานาน ซึ่งอาจเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนูมากกว่าอาชีพอื่น ๆ

โรคฉี่หนู หรือโรคเลปโตสไปโรสิส ติดต่อจากสัตว์มาสู่คน ซึ่งเชื้อจะออกมากับฉี่ของสัตว์ เช่น หนู วัว ควาย แพะ แกะ และสุนัข แล้วปนเปื้อนในแม่น้ำ ลำคลอง พื้นที่มีน้ำขังหรือพื้นที่ชื้นแฉะ ดังนั้น ชาวไร่ควรหลีกเลี่ยงอย่าลุยน้ำหรือแช่น้ำนาน ๆ ไม่เช่นนั้นจะเสี่ยงติดโรคได้ค่ะ

สำหรับอาการของโรคนั้น จะพบหลังได้รับเชื้อ 2-10 วัน โดยจะเริ่มมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่องและโคนขา ต่อมาอาจมีเยื่อบุตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดิน หากมีอาการเหล่านี้หลังจากไปแช่น้ำย่ำโคลนมา 2-26 วัน ควรนึกถึงโรคนี้ และไปพบแพทย์ทันที เพราะถ้าไม่รีบรักษา บางรายอาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ไอมีเลือดปน หรือตัวเหลือง ปัสสาวะน้อย ซึม สับสน เนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ อาจมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและเสียชีวิตได้

7 วิธีป้องกันโรคฉี่หนู โรคอันตรายที่มากับปลายฝนต้นหนาว

  1. ควรสวมชุดป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ต ถุงมือ ถุงเท้า หากต้องลุยน้ำหรือแช่น้ำขัง
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ที่เป็นพาหะ ของโรคดังกล่าว
  3. หลีกเลียงการว่ายน้ำที่อาจจะมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่
  4. หลีกเลี่ยงไม่ไปสัมผัสปัสสาวะโค กระบือ หนู สุกร และไม่ใช้แหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อ
  5. หลีกเลี่ยงอาหารที่ปล่อยค้างคืน โดยไม่มีภาชนะปกปิด เป็นต้น
  6. หลีกเลี่ยงการทำงานในน้ำหรือต้องลุยน้ำ ลุยโคลนเป็นเวลานาน ๆ
  7. รีบอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกายโดยเร็วหากแช่ หรือ ย่ำลงไปในแหล่งน้ำที่สงสัยว่าอาจปนเปื้อนเชื้อโรค

หากมีอาการเจ็บป่วยที่ผิดปกติ หรือสงสัยว่าติดเชื้อ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีนะคะ ด้วยความปรารถนาดีจาก มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม

ขอบคุณที่มา ข้อมูล-ภาพ

https://www.thaihealth.or.th

https://wwwnno.moph.go.th/

https://www.smk.co.th/

ข่าวปักหมุด