สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ทุกท่าน อย่างที่เรารู้กันดีอยู่แล้วว่า “อ้อย” เป็นพืชที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ลำต้นจนถึงยอดใบอ้อยอย่างแท้จริง เรามักได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการนำส่วนต่าง ๆ ของอ้อยมาสร้างคุณค่าผ่านการพัฒนาและวิจัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง
ล่าสุดมหาวิทยาลัยอีสต์ลอนดอนร่วมมือกับบริษัทผลิตน้ำตาลในประเทศอังกฤษ ได้พัฒนาคอนกรีตชานอ้อย การันตีด้วยรางวัล Climate Positive Award ระดับนานาชาติ ด้วยคุณสมบัติเส้นใยของอ้อยที่เรียกว่าชานอ้อย สามารถนำมาอัดแข็งใช้แทนคอนกรีตได้ ซึ่ง การนำเอากากอ้อยหรือชานอ้อยมาแปรรูปเป็นคอนกรีตถือเป็นการลดของเหลือทิ้งให้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และช่วยแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อีกด้วย
คอนกรีตชายอ้อยทำมาจากชานอ้อยที่ผสมกับสารยึดเกาะ ซึ่งส่วนผสมทั้งหมดจะถูกบีบอัดและปล่อยให้แข็งตัว จนกลายเป็นบล็อกที่มีความแข็งแรงสูง ซึ่งสามารถใช้แทนดินเหนียวหรืออิฐคอนกรีตแบบดั้งเดิมได้
ข้อดีของบล็อกที่ทำจากชานอ้อย คือ แข็งตัวได้เร็วกว่า มีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่า มีน้ำหนักเบากว่าถึง 4 เท่า และที่สำคัญคือปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าคอนกรีตแบบเดิม ๆ ถึง 20 เท่า
แน่นอนว่าจากนวัตกรรมนี้ของชาวอังกฤษ ในการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ กลุ่มสิ่งแวดล้อม Green Cross UK ได้เลือกคอนกรีตชานอ้อยให้เป็นผู้ชนะสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียนของรางวัล Climate Positive Awards ซึ่งรางวัลดังกล่าวเชิดชูความคิดริเริ่มที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยในส่วนของเศรษฐกิจหมุนเวียนมุ่งเป้าไปที่โครงการที่ช่วยลดขยะโดยการนำวัสดุที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่
นับว่าเป็นนวัตกรรมทางการเกษตรที่ช่วยลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างน่าชื่นชมนะคะ
ขอบคุณที่มาข้อมูล-ภาพ