- หลากสไตล์มิตรชาวไร่
- พฤ., 29 มี.ค. 61
สวัสดีค่ะมิตรชาวไร่ วันนี้เรามีเรื่องราวที่น่าภาคภูมิใจมาฝากทุกคนค่ะ กับไอเดียสุดบรรเจิดจากเยาวชนและครูชาวไทย ที่นำใบอ้อยมาสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับสวยงาม เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5
ข่าวดีนี้มาจากคณะครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านข่อยสูง อ.ตรอน จ.อุตรดิตถ์ ที่ร่วมกันประดิษฐ์ผลงานเครื่องประดับศิราภรณ์ วิจิตราภรณ์ ซึ่งทั้งสวยงามอลังการและสามารถใช้งานได้จริงในการสวมใส่เครื่องประดับในงานแสดง การร่ายรำ หรือกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ โดยใช้ใบอ้อยซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากการทำไร่อ้อยในพื้นที่
ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์เป็นฤดูเก็บเกี่ยว ซึ่งจะมีใบอ้อยเหลือทิ้งจำนวนมาก แต่เดิมเกษตรกรจะเผาใบอ้อยทิ้ง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดฝุ่น PM2.5 ครูและนักเรียนจึงเกิดแนวคิดในการนำวัสดุเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ โดยการประดิษฐ์เครื่องประดับไทยจากใบอ้อยที่มีคุณสมบัติเหนียว ทนทาน และยึดเกาะได้ดี
ขั้นตอนการทำคือ เริ่มจากการหั่นใบอ้อยให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับแป้งข้าวเจ้าที่ต้มกับน้ำจนจับตัวเป็นก้อน จากนั้นนวดผสมกับผงแคลเซียม ปูนยาแนว ทิชชู และใบอ้อยจนเข้ากัน จึงได้ดินที่ใช้ในการกดลายลงในแม่พิมพ์ตามลวดลายที่ต้องการ แล้วนำไปติดบนโครงเครื่องประดับ หลังจากนั้น ตากแดดให้แห้ง และลงสีทอง สีทองคำเปลว หรือประดับตกแต่งด้วยเพชรพลอย ก็จะได้ชิ้นงานที่สวยงามและวิจิตร
ผลงานนี้ไม่เพียงช่วยลดการเผาอ้อยในพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาลเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมให้นักเรียนเห็นคุณค่าและประโยชน์ของใบอ้อย อีกทั้งยังช่วยประหยัดงบประมาณที่ต้องจ่ายให้กับการเช่าช่างที่มีราคาค่อนข้างสูง และสามารถสร้างรายได้ระหว่างการเรียนได้อีกด้วย
นอกจากนี้ การประดิษฐ์เครื่องประดับไทยจากใบอ้อยยังเป็นการสืบสานงานศิลป์ที่เป็นมรดกของชาติ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่ทำเครื่องประดับไทยน้อยลง การสร้างสรรค์นี้จะช่วยให้เด็ก ๆ รุ่นใหม่ได้ศึกษาต่อยอดและสามารถใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างรายได้ในอนาคต
นี่คือนวัตกรรมที่น่าชื่นชมจากทั้งคณะครูและเด็กไทย ที่มีความคิดสร้างสรรค์และศักยภาพ พร้อมทั้งคำนึงถึงนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการลด PM 2.5 และส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ การเห็นไอเดียแบบนี้แล้วคงไม่สามารถไม่ปรบมือให้ได้ค่ะ
ที่มาข้อมูล