หน้าแรก

“สิงห์บุรีโมเดล” คือกลุ่มมิตรชาวไร่ที่มิตรผลยกย่องให้เป็นตัวอย่าง การจัดการองค์ความรู้เรื่องการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยและการมีส่วนร่วมของสมาชิกในความร่วมมือร่วมใจ ในทุกกิจกรรมการทำไร่อ้อย ให้ประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้ทั้งนั้น หลักการรวมกลุ่มที่เป็นสากลที่สุด จะขาดเรื่องโครงสร้างกลุ่มไปไม่ได้ เพื่อให้การบริหารจัดการกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ “หัวหน้ากลุ่ม” จึงเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะนำพาสมาชิกกลุ่มเดินไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นคง

คุณอาคม ศรีคช หัวหน้ากลุ่มคนเก่งของสิงห์บุรีโมเดล ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมาชิกมิตรชาวไร่อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี ที่บริหารจัดการกลุ่มด้วยแนวคิดหลักยืนหนึ่งเพียงแนวคิดเดียวคือ “ผลประโยชน์ของกลุ่มคือผลประโยชน์ของเรา”

กว่าจะมาเป็นสิงห์บุรีโมเดล?

คุณอาคมเล่าว่า กว่าจะมาเป็นสิงห์บุรีโมเดล สมาชิกกลุ่มต่างล้มลุกคลุกคลานกันมาพอสมควร เพราะสมาชิกเราแต่ละคนเป็นเพียงชาวไร่อ้อยรายย่อยของอำเภอเดิมบางนางบวช ที่มีพื้นที่ปลูกไม่กี่สิบไร่ ซึ่งแต่ละรายไม่ได้มีความพร้อมเรื่องเครื่องจักรหรือเครื่องมือที่จะทำกิจกรรมในไร่ได้ เพราะการลงทุนสูงมากเมื่อเทียบกับผลผลิตที่เราจะได้รับในพื้นที่ขนาดเล็กของเรา แต่ละคนก็ทำไร่ตามสไตล์ของตัวเอง จ้างคนงานบ้าง ทำเองบ้าง คนตัดอ้อยไม่พอก็เผาอ้อยบ้าง สิ่งที่เราได้สมัยก่อนคือ ผลผลิตอ้อยไม่ดี อ้อยไว้ตอได้น้อย ผลผลิตลดลง ยิ่งทำยิ่งเหนื่อย บางคนถอดใจกลับไปปลูกข้าวเหมือนเดิม จนกระทั่งโรงงานมิตรผลเข้ามา มีเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูแล จนเกิดเป็นสิงห์บุรีโมเดลอย่างทุกวันนี้

ทำไร่อ้อยเองกับทำเป็นกลุ่มต่างกันอย่างไร?

เรื่องการรวมกลุ่มคุณอาคมกล่าวว่า เพราะชาวไร่อ้อยในพื้นที่มีน้อย ส่วนใหญ่พื้นที่แถวนี้จะปลูกข้าวเป็นหลัก คุณอาคมมองว่า คนปลูกข้าวมีเยอะแยะ ปลูกข้าวได้ปีละตั้ง 3 ครั้ง ผลผลิตก็ออกมาเยอะ ราคาข้าวก็ตกเพราะแย่งตลาดกัน แต่อ้อยถึงแม้จะปลูกได้ปีละครั้ง แต่ผลผลิตและราคาที่ได้คุ้มค่ากับการลงทุน ยิ่งถ้ามารวมกลุ่มกัน มีเจ้าหน้าที่มาให้คำแนะนำเรื่องการปลูกอ้อย ทุกคนปลูกแบบมีหลักการขึ้น เว้นระยะห่างระหว่างร่องให้เครื่องจักรจำพวกรถตัดเข้าทำงานได้ และอ้อยสามารถไว้ตอได้นาน พอรวมกลุ่มแล้ว ต้นทุนการทำไร่ของแต่ละรายลดลง โดยเฉพาะลดต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าตัดอ้อย

อาคม-003.jpg

บริหารจัดการกลุ่มอย่างไรให้เข้มแข็ง?

เรื่องการบริหารจัดการกลุ่ม คุณอาคมเล่าว่า ต่างคนต่างยึดผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นหลัก ไม่ได้คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน สมาชิกกลุ่มช่วยกันวางแผนทำกิจกรรมในไร่ให้เวลาไล่เลี่ยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่โรงงานเวลานำเครื่องจักรเข้ามาทำงานในกลุ่ม นอกนั้นการบำรุงดูแลรักษาอ้อย ทุกขั้นตอน ต่างช่วยกันดูแล เป็นหูเป็นตาให้กันและกัน

ผลผลิตที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง?

สำหรับผลผลิตอ้อยใหม่เฉลี่ยอยู่ที่ 20-25 ตัน อ้อยตอประมาณ 20 ตัน ไว้ตอได้ 4-5 ปี อ้อยของกลุ่มสิงห์บุรีโมเดลเป็นอ้อยตัดเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่ใช้คำว่าเกือบเพราะยังมีเหตุจากธรรมชาติ เช่น ฝนตกชุกช่วงเข้าตัด ทำให้ถนนเละมาก รถตัดเข้าทำงานไม่ได้ หรือบางช่วงที่ฝนตกตลอด ก็ทำให้ตัดอ้อยล่าช้าไปบ้าง มีส่งผลกระทบบ้างแต่สมาชิกก็สามารถบริหารจัดการได้

ฝากแนวคิดถึงมิตรชาวไร่ที่อยากจะรวมกลุ่มแบบสิงห์บุรีโมเดลบ้าง

คุณอาคมกล่าวว่า “การรวมกลุ่มทำให้เราทำไร่อ้อยได้เข้มแข็งมากขึ้น เพราะเรามีทีมจากโรงงานมาช่วยดูแล แนะนำ และช่วยเรื่องเครื่องจักรที่เกษตรกรรายย่อยอย่างเราไม่มี ที่สำคัญสมาชิกในกลุ่มต้องเห็นประโยชน์ของกลุ่มเป็นสำคัญ จะทำให้กลุ่มอยู่ได้อย่างยั่งยืน เกื้อกูลกันตลอดไป”

และนี่คือความสำเร็จของสิงห์บุรีโมเดล ที่เกิดจากความเข้มแข็งของผู้นำและสมาชิกกลุ่ม ที่เน้นความร่วมมือและเอื้ออาทรต่อกันในทุกกิจกรรมการทำไร่อ้อย ทำให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ และนำไปสู่ความเข้มแข็งของกลุ่มอย่างแท้จริง.

ข่าวปักหมุด